ผลกระทบของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ต่อร่างกาย จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจ

                        ผลกระทบของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ต่อร่างกาย จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจ

1. ผลกระทบด้านร่างกาย

1.1. ความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะส่วนปลายด้านตรงข้ามกับพยาธิสภาพในสมอง โดยระยะแรกกล้ามเนื้อจะอ่อนปวกเปียก รู้สึกแขนขาหนักยกไม่ขึ้นการเคลื่อนไหวลำบากหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หลังจากพ้นระยะนี้จะเกิดอาการเกร็ง มีอาการงอของข้อศอก นิ้วมือกำแน่น ข้อสะโพกกางออก ถ้าอาการเกร็งเป็นอยู่นานทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าหน้าที่เหยียดข้อต่าง ๆ สูญเสียหน้าที่ ส่งผลให้การงอข้อลำบากเกิดข้อติด

1.2. ความผิดปกติเกี่ยวกับการพูดและการสื่อความหมาย พบในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของสมองซีกเด่น แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ

  1.2.1 ไม่สามารถเข้าใจความหมายสื่อภาษา (sensory aphasia) เกิดจากการทำลายบริเวณ Wernicke’s area ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำพูดที่ได้ยิน หรือไม่สามารถอ่านหนังสือได้แม้มองเห็น (Visual aphasia) เนื่องจากไม่เข้าใจภาษาเขียน

  1.2.2 ไม่สามารถสื่อความหมายได้ (motor aphasia) เนื่องจากมีการทำลายบริเวณ Broca’ s area ผู้ป่วยสามารถเข้าใจความหมายของคำพูดที่ได้ยินได้ แต่จะไม่สามารถพูดหรือเขียน บางครั้งออกเสียงไม่เป็นภาษาหรือเขียนไม่เป็นประโยค

  1.3. ความผิดปกติเกี่ยวกับการเคี้ยวและการกลืน พบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีความผิดปกติเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งควบคุมการเคี้ยว เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าขณะเคี้ยวอาหารและเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9,10 และ 12 ควบคุมการกลืนและการเคลื่อนไหวของลิ้น มีผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเม้มริมฝีปากได้สนิท การเคี้ยวอาหารบกพร่อง ลิ้นไม่สามารถตวัดอาหารในทิศทางต่าง ๆ ได้ กล้ามเนื้อช่องปากและคอหอยอ่อนแรงไม่สามารถผลักอาหารเข้าหลอดอาหารได้

 1.4. ความผิดปกติเกี่ยวกับความรู้สึกและการรับรู้ ได้แก่ การสูญเสียความรู้สึกสัมผัส ความเจ็บปวด แรงกด อุณหภูมิ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างรวมกัน ผู้ป่วยอาจบอกตำแหน่งของจุดสัมผัสพร้อมกันหลายจุดไม่ได้ ละเลยการเคลื่อนไหวด้านที่เป็นอัมพาต

 1.5. การมองเห็นผิดปกติ ที่พบบ่อยที่สุดคือ ตาบอดครึ่งซีกข้างเดียวกันทั้งสองข้างไม่สามารถมองเห็นซีกที่เป็นอัมพาต เกิดการละเลยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมด้านที่เป็นอัมพาต จึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากความผิดปกติของลานสายตาและระยะการมองเห็น

 1.6. ความผิดปกติเกี่ยวกับสติปัญญาและการรับรู้ ที่พบบ่อยคือ การสูญเสียความทรงจำเป็นความทรงจำที่เพิ่งผ่านไปหรือเป็นการสูญเสียความทรงจำในอดีตเกี่ยวกับตนเองและเหตุการณ์ที่ผ่านมา

 1.7. ความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่าย ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะค้าง หรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้

 1.8. ความผิดปกติเกี่ยวกับเพศ สัมพันธ์พบว่า ผู้ป่วยมีความต้องการทางเพศลดลงอวัยวะเพศไม่แข็งตัว

 

2. ผลกระทบทางด้านจิตใจ ผู้ป่วยเป็น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จะมีปัญหาด้านร่างกายมักมีผลกระทบด้านจิตใจร่วมด้วย ซึ่งได้แก่มีความรู้สึกสูญเสีย ความวิตกกังวล ความเครียด ความก้าวร้าว ภาวะซึมเศร้า

 2.1.การสูญเสีย ได้แก่ เสียความภูมิใจในตัวเอง เสียความรู้สึกมั่นคง สูญเสียเป้าหมายในชีวิตที่หวังไว้ อารมณ์ที่ตอบสนองต่อการสูญเสียคือ ความเสียใจ ถ้าไม่สามารถปรับได้จะแสดงอารมณ์และความรู้สึกออกมา

 2.2. ความเครียด เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) นี้ เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มักมีอาการที่เกิดขึ้นทันทีทันใดทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ จะเกิดอารมณ์หงุดหงิดโมโหง่าย รวมทั้งการที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดได้

 2.3. ความวิตกกังวล เป็นพื้นฐานการตอบสนองต่อความเครียดที่ยาวนานที่กระทำออกมาเพื่อต่อสู้สิ่งคุกคาม อาการของความวิตกกังวลเป็นอาการของความกลัว เกิดจากประสบการณ์การรับรู้แขนขาอ่อนแรงมากขึ้นและความรู้สึกไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจมีผลให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกาย คือ ใจสั่น แน่นหน้าอก เหนื่อย หายใจไม่ออก ปากแห้ง มือเท้าเย็น นอนไม่หลับ ถ่ายเหลว กลั้นปัสสาวะไม่ได้

2.4. ความก้าวร้าว เป็นการกระทำในลักษณะของการทำร้าย หรือคำพูดที่รุนแรงต่อบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมอย่างขาดความยับยั้งชั่งใจ ท่าทางที่ไม่เป็นมิตร ทุบทำลายสิ่งของ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอาจมีอาการหงุดหงิด หมดหวังได้ง่าย

2.5. ภาวะซึมเศร้า พบผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีความผิดปกติของสมองซีกซ้ายมากกว่าสมองซีกขวา

3. ผลกระทบด้านสังคม ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมดังนี้ การเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพของผู้ป่วยกับญาติ ผู้ป่วยกับสังคมและบทบาทในสังคม
4. ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นไม่ว่าเฉียบพลันหรือเรื้อรังก็ตามจะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัว ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องได้รับการตรวจรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
 
 
หากระบบประสาทเกิดการผิดปกติ จนเกิดเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคลมชัก และโรคพาร์กินสัน กำลังรักษาอยู่ หรือหาที่ฟื้นฟู สามารถติดต่อสอบถามเราได้ที่

สนใจกระตุ้นระบบประสาทและสมอง ด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า TMS และ PMS

ติดต่อได้ที่

 

 

KIN - Rehabilitation & Homecare 
สาขา ลาดพร้าว 71

เลขที่ 6 ซอยนาคนิวาส 18 (ลาดพร้าว 71)

เวลาทำการ  ทุกวัน 09.00 – 18.00 น.

 : KIN - Rehabilitation & Homecare
 แผนที่ : https://bit.ly/2VvPDq6

KIN Origin Healthcare Wellness Center
สาขา สุขุมวิท 107

596 หมู่ 7 ซอยแบริ่ง 10 ถนนแบริ่ง 107
สำโรงเหนือ เมืองสมุทรปราการ 

เวลาทำการ  ทุกวัน 09.00 – 18.00 น.

 : Kin Origin Sukhumvit 107
 แผนที่ : https://shorturl.asia/KxzBk


ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab