โรคพาร์กินสันกับผู้สูงอายุ

 โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) กับผู้สูงอายุ

   พาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) เป็นโรคของระบบประสาทที่เกิดจากความผิดปกติในส่วนของสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เป็นภาวะอาการในกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่มีอาการสั่นตามอวัยวะต่าง ๆ เคลื่อนไหวช้าและกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ไม่ยืดหยุ่น อย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง หรือสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่าง ๆ ถูกทำลายจนเสียหายโดยไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันกะทันหันอย่างโรคร้ายแรงอื่นแต่จะกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว

Parkinson’s Disease

 

สาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสัน

  1. ความชราภาพของสมอง มีผลทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีน มีจำนวนลดลง โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
  2. ยากล่อมประสาทหลัก หรือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านการสร้างสารโดปามีน โดยมักพบในผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับยากลุ่มนี้เพื่อป้องกันดารคลุ้มคลั่ง
  3. ยาลดความดันโลหิตสูง เนื่องจากในอดีตมียาลดความดันโลหิตที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง จึงทำให้สมองลดการสร้างสารโดปามีน แต่ในระยะหลัง ยาควบคุมความดันโลหิตจะมีฤทธิ์นอกระบบประสาทส่วนกลาง จึงไม่ส่งผลต่อสมองที่จะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้
  4. หลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีนมีจำนวนลดน้อยลง หรือหมดไป
  5. สารพิษทำลายสมอง ได้แก่ สารแมงกานีสในโรงงานถ่านไฟฉาย พิษจากสารคาร์บอนมอนนอกไซด์
  6. สมองขาดออกซิเจนในกรณีที่ จมน้ำ ถูกบีบคอ เกิดการอุดตันในทางเดินหายใจจากเสมหะ หรืออาหารเป็นต้น
  7. ศีรษะถูกกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ หรือโรคเมาหมัดในนักมวย
  8. การอักเสบของสมอง
  9. โรคทางพันธุกรรม เช่น โรควิลสัน ซึ่งเกิดจากการที่มีอาการของโรคตับพิการร่วมกับโรคสมอง
  10. ยากลุ่มต้านแคลเซียมที่ใช้ในโรคหัวใจ โรคสมอง ยาแก้เวียนศีรษะ และยาแก้อาเจียนบางชนิด

อาการของพาร์กินสัน

  • อาการสั่น (Tremor) เป็นอาการสั่นที่นิ้ว มือ แขน หรือขา ขณะอยู่ในท่าพักและไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย อาการที่มักพบได้บ่อย คือ นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้สั่นและถูกันไปมา มือสั่นอย่างควบคุมไม่ได้
  • เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) เคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ได้ช้ากว่าปกติ จนทำให้เกิดความยากลำบากและใช้เวลานานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง (Rigidity) กล้ามเนื้อแข็งและเกร็งกว่าปกติ ทำให้เคลื่อนไหวอวัยวะได้อย่างลำบากและได้จำกัด หรืออาจสร้างความเจ็บปวดได้หากเกิดภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)

ภาวะแทรกซ้อนของพาร์กินสัน

  • กลืนลำบาก อาจมีน้ำลายสะสมอยู่ในปากมาก ทำให้กลืนอาหารลำบาก
  • ปัสสาวะลำบาก หรือไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้
  • ท้องผูก ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ช้าลง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน รู้สึกตัวขึ้นมากลางดึกบ่อย ๆ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น ภาวะซึมเศร้า
  • ประสาทการรับกลิ่นมีปัญหา
  • อ่อนเพลียง่าย เจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืดเฉียบพลันได้
  • อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความคิดและการจำ (Dementia) ในช่วงหลังของการเจ็บป่วย

การรักษาโรคพาร์กินสัน

  1. การรักษาด้วยยา แม้ว่ายาจะไม่สามารถทำให้เซลล์สองที่ตายไปแล้วฟื้นตัวหรือกลับมาทดแทนเซลล์เดิมได้ แต่ก็สามารถทำให้สารโดปามีนในสมองมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้ สำหรับยาที่ใช้ในปัจจุบันคือ ยากลุ่ม LEVODOPA และยากลุ่ม DOPSMINE AGONIST เป็นหลัก
  2. กายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะคอยดูแลและฝึกฝนให้ผู้ป่วยหัดใช้กล้ามเนื้อและทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้คล่องขึ้น เพื่อบรรเทาอาการกล้ามเนื้อแข็งแกร่งและอาการปวดบริเวณข้อต่อ ด้วยการฝึกเดิน ฝึกการเคลื่อนไหว และการออกกำลังกาย แยกออกเป็น 2ประเภท
  • อาชีวบำบัด นักอาชีวบำบัดจะดูแลและช่วยเหลือในด้านทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ดูแลจัดการในด้านความเป็นอยู่ ให้ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยพาร์กินสัน และป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตราย
  • อรรถบำบัด นักบำบัดจะช่วยแก้ไขปรับปรุงปัญหาเกี่ยวกับปาก อย่างการพูดและการกินอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสันมักมีอาการกลืนลำบาก (Dysphagia) และพูดไม่คล่อง พูดติดขัด พูดไม่ชัด นักบำบัดจะสอนวิธีการพูด การกิน และการออกกกำลังกายบริหารปากให้ผู้ป่วย
  1. การผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation : DBS ) ในผู้ป่วยบางราย โดยจะผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าลงไปในสมอง เพื่อกระตุ้นสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการพาร์กินสัน โดยกระบวนการทำงานจะเชื่อมต่อกับขั้วไฟฟ้าอีกตัวที่ถูกฝังอยู่ในหน้าอกบริเวณใกล้กับกระดูกไหปลาร้า ขั้วไฟฟ้าจะส่งคลื่นไฟฟ้าไปยังสมองช่วยลดอาการพาร์กินสันที่เกิดขึ้นแต่ไม่สามารถหยุดการพัฒนาโรคและการเสื่อมของสมองที่อาจเกิดขึ้นได้
 
สนใจสอบถามข้อมูล
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
โทร. 0802400426 / 091 803-3071 / 0-2020-1171
สอบถามบริการของ KIN  แอด LINE@ สอบถามรายละเอียด @kin.rehab มี @ ข้างหน้า หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id
แผนที่ไป KIN (คิน) http://bit.ly/2VvPDq6
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.kinrehab.com/
FaceBook(Inbox) : https://www.facebook.com/KIN.Rehabilitation

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab