โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงรักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS - Amyotrophic Lateral Sclerosis) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง แล้วส่งผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากขาดเซลล์ประสาทนำคำสั่งมาควบคุม โดยที่เซลล์ประสาทนำคำสั่งเหล่านี้ค่อยๆ เกิดการเสื่อม และตายไปในที่สุด ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ชัดเจน แต่พบว่าเกิดจากหลายเหตุปัจจัย เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ โดยส่วนใหญ่โอกาสที่จะพบโรค ALS ในคนอายุมากในช่วงอายุระหว่าง 60-65 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 1.5 เท่า
อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS)
- มีอาการมือ เท้า แขน ขา อ่อนแรง
- มีอาการกลืนลำบาก สำลักเวลากลืนน้ำหรืออาหาร
- มีอาการกล้ามเนื้อแขน และขาลีบ
- มีอาการพูดไม่ชัด
- มีอาการเหนื่อยง่าย
วิธีการรักษาภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงทางกายภาพบำบัด
เนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงมีการรักษาหลากหลายให้เหมาะกับสาเหตุ และความรุนแรง โดยเฉพาะนักกายภาพบำบัดที่จะวิเคราะห์ตามระดับความรุนแรง
การรักษาภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เรียกโดยรวมว่า การออกกำลังการเพื่อการรักษา (Therapeutic exercise) ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ และผู้มีการทำงานของกล้ามเนื้อไม่สมดุล สามารถรักษาได้ด้วยการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลง
- กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือผู้ป่วยที่สมองได้รับบาดเจ็บ จะใช้การออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูการทำงานของสมอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เป็นอัมพาต ไม่สามารถขยับร่างกายได้เลยบางราย สามารถกลับมาใช้ชีวิต และทำงานได้อย่างปกติ
- กลุ่มโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบต่างๆ รวมถึงผู้ป่วยที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ และการพยากรณ์โรคเป็นไปในทิศทางแย่ลงเรื่อยๆ พึงทราบว่าการกายภาพบำบัดยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการชะลอความพิการที่จะเกิดขึ้น และการฝึกฝนกล้ามเนื้ออื่นๆ เพื่อทำหน้าที่แทนกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลงก็สามารถทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างเต็มความสามารถที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
ขอขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์