13 วิธีรับมือฮีทสโตรก ในงาน บางกอกไพรด์ 2023
ในปัจจุบันสังคมโลกเต็มไปด้วยความหลากหลาย และหนึ่งในนั้นก็คือ “ ความหลากหลายทางเพศ ” ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศก็เปิดกว้าง แต่ก็มีอีกหลายๆ ประเทศเช่นกัน ที่กลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่ได้รับความเท่าเทียมยอมรับจากสังคมเท่าที่ควรจะเป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง โดยในประเทศไทยก็ได้มีการขับเคลื่อน ผลักดันให้มีการยอมรับ กลุ่ม LGBTQ+ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ความเสมอภาคขึ้น และในตอนนี้กรุงเทพฯ ก็จะมีการจัดงานบางกอกไพรด์ 2023 ขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน 2566 โดยกิจกรรมจะเป็นการเดินพาเหรดไพรด์
แต่ในช่วงนี้สภาพอากาศในประเทศไทยร้อนระอุมาก และทาง Kin อยากให้ประชาชนทุกคนรวมถึงผู้ที่ได้เดินทางไปเข้าร่วมงาน บางกอกไพรด์ 2023 ควรจะต้องเตรียมรับมือ คือความเสี่ยงที่จะเกิด “โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดง กระหายน้ำ มึนงง วิงเวียนศีรษะ ตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็ว เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดน้อยลง หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องทันท่วงทีก็จะเกิดอันตรายอาจถึงชีวิตได้ ดังนั้นทาง Kin มีวิธีรับมือเมื่อเผชิญกับอากาศร้อน เพื่อป้องกันสุขภาพ อันตรายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และห่างไกลโรคฮีทสโตรก ดังนี้
- ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้กำลังมาก โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีอากาศร้อนและชื้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ
- คอยดูการแจ้งเตือนการเกิดคลื่นความร้อน (Heat Wave) ในช่วงฤดูร้อน เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงหรือเตรียมตัวป้องกัน
- หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ต้องปกป้องตนเองจากแสงแดด ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายระบายอากาศได้ดี สีอ่อน หรือสวมหมวกปีกกว้าง รวมไปถึงใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) 15 ขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงออกไปกลางแจ้งในช่วงที่มีอากาศร้อน เวลาประมาณ 11.00-15.00 น. ของแต่ละวัน แต่หากจำเป็นให้พยายามอยู่ในที่ร่มและเตรียมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดดให้พร้อม
- รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น สลัดและผลไม้
- ใช้น้ำพรมตามผิวหนังและเสื้อผ้า หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ วางไว้ที่คอ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
- หมั่นสังเกตพฤติกรรมการปัสสาวะของตนเอง หากไม่ค่อยถ่ายหรือปัสสาวะมีสีเข้ม แสดงว่าร่างกายกำลังขาดน้ำ ควรดื่มน้ำให้มาก
- จัดการสภาพแวดล้อมหรือที่พักอาศัยให้เย็นสบาย เช่น การปิดหน้าต่างหรือผ้าม่านบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดด
- ระวังอย่าให้เด็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ในรถที่จอดเอาไว้ โดยเฉพาะหากจอดเอาไว้กลางแดด เพราะภายใน 10 นาที อุณหภูมิในรถจะเพิ่มขึ้นมากว่า 6 องศาเซลเซียส ซึ่งมีอันตรายมาก
- ควรเฝ้าระวังผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมแดดได้มาก
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดหรือเป็นโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาเมื่อต้องเจอกับอากาศร้อน ควรหลีกเลี่ยงอากาศร้อนและหากมีสัญญาณของอาการที่ผิดปกติ ควรรีบหาทางรักษาหรือทำให้ร่างกายเย็นลงโดยเร็ว และหากจำเป็นต้องทำกิจกรรมหรือแข่งกีฬาที่อยู่ในสภาพอากาศร้อนหรือกลางแจ้ง ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีบริการทางการแพทย์เตรียมพร้อมอยู่
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม ควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ พร้อมกับดื่มน้ำในปริมาณมาก
ขอขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลบุรีรัมย์
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
LINE สอบถามรายละเอียด @kinrehab (มี @ ข้างหน้า) หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id