6 กิจกรรมส่งเสริมความจำ ในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

6 กิจกรรมส่งเสริมความจำ ในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

 

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นภาวะที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง ทำให้การทำงานของสมองในด้านต่างๆ รวมทั้งกระบวนการรู้ คิด เกิดการบกพร่อง จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งภาวะสมองเสื่อม มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้ดูแลควรคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ และพฤติกรรมของผู้สูงอายุ เนื่องจากการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแล ที่สามารถให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมองของผู้ป่วย เช่น ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ จะเกี่ยวข้องกับความจำระยะสั้นโดยเฉพาะ ซึ่งความรุนแรงของอาการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้


ระยะที่ 1  ความจำเสื่อมเล็กน้อย

ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เหมือนเดิม มีการตอบสนองช้าลง ครอบครัวมักสังเกตไม่ได้ 


ระยะที่ 2  สมองเสื่อมมากขึ้น

จำได้เฉพาะเหตุการณ์ในอดีต แยกตัวออกจากสังคม มีอาการหลงลืมบุคคลใกล้ชิด จะสังเกตเห็นถึงความผิดปกติได้


ระยะที่ 3  เป็นระยะที่รุนแรงมากขึ้น

ต้องมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือ มีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป ไม่รับรู้บุคคล หรือสถานที่ จำได้เฉพาะเหตุการณ์ในอดีต เดินหลงไปในที่ต่างๆ แต่ยังสามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้


ระยะที่ 4  เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการปรับตัว

ซึมเศร้าง่าย วิตกกังวลง่าย หรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า จำเหตุการณ์ปัจจุบัน และอดีตไม่ได้ จำไม่ได้ว่ารับประทานอาหารหรือยัง พูดไม่เป็นภาษา กลั้นปัสสาวะ และอุจจาระไม่ได้ มีอาการเบื่ออาหาร 

 

การรักษา

มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ การรักษาโดยการใช้ยา และการรักษาโดยไม่ใช้ยา ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จัดกิจกรรมช่วยกระตุ้นความจำให้กับผู้สูงอายุ ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยฟื้นฟู และชะลอความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมได้

 

6 กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความจำและการรับรู้ในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม

  1. นำปฏิทินขนาดใหญ่ อ่านง่าย ให้ผู้สูงอายุดู แล้วถามนำว่า วันนี้วันที่เท่าไร เป็นวันอะไร เดือนอะไร ปี พ.ศ.อะไร และฤดูอะไร 
  2. นำรูปภาพ บุคคล สัตว์ ผลไม้ หรือสิ่งของต่างๆ ที่ผู้สูงอายุคุ้นเคยเช่น ภาพบุคคลในครอบครัว ภาพผลไม้ (กล้วย) ภาพสัตว์ (นก) เป็นต้น มาให้ดูและถามคำถาม ให้ผู้สูงอายุบอกชื่อทีละภาพ
  3. นำรูปภาพสถานที่ที่ผู้สูงอายุคุ้นเคยเช่น บ้าน วัด ศาสนสถาน หรือสถานที่ท่องเที่ยว ที่เคยไป ให้ผู้สูงอายุดูภาพและถามชื่อสถานที่ อยู่ที่ไหน จังหวัดใด ภาคอะไร
  4. นำนาฬิกาที่มีเข็มบอกเวลา มีตัวเลข อ่านง่าย ให้ผู้สูงอายุดู แล้วสอบถามว่า ช่วงนี้เป็นเวลาอะไร กลางวันหรือกลางคืน ปกติเข้านอนกี่โมง ตื่นกี่โมง 
  5. เปิดเพลงที่ผู้สูงอายุชอบฟังหรือคุ้นเคยนั่งฟังเพลงด้วยกันและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเพลง เช่น ใครเป็นนักร้อง ชอบเพลงนี้เพราะอะไร ให้ผู้สูงอายุเล่าเหตุการณ์ที่จดจำได้
  6. นำกระดาษสี การ์ดสีให้ผู้สูงอายุทายเช่น เริ่มจากการทายแม่สี แดง เหลือง น้ำเงิน เขียว เป็นต้น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ฝึกการจดจำได้

 

ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความจำสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม แต่สิ่งที่สำคัญกว่ากิจกรรมนั้น คือ ความพร้อมของผู้ดูแลในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ดูแลต้องมีความอดทน ใจเย็น มีภาวะอารมณ์ที่เหมาะสมและมีอารมณ์ขันเพื่อลดความตึงเครียด รวมทั้งช่วยปรับบรรยากาศการพูดคุยให้เป็นไปแบบสบาย ผ่อนคลาย และในบางครั้งผู้สูงอายุอาจใช้เวลานานในการนึกคำพูดหรือบางรายอาจตอบคำถามไม่ได้ ให้ลองชวนพูดคุย ให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายๆ ผ่อนคลาย แล้วค่อยทบทวนคำถามอีกครั้งนึง

 

ขอขอบคุณข้อมูล : ดร.อภันตรี สาขากร

สอบถามข้อมูลการฟื้นฟู
และนัดดูสถานที่

 

สำหรับใครที่สนใจ หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมในการรักษาฟื้นฟูกับ KIN
สามารถติดต่อได้ที่  
 โทร : 02-096-4996 กด 1 , 091-803-3071 , 095-884-2233
 LINE สอบถามรายละเอียด @kinrehab (มี @ ข้างหน้า) หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id
 Youtube Channel : https://cutt.ly/TyTh3bd
 แผนที่ไป KIN : http://bit.ly/2VvPDq6

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab