ทำไมผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัด
เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะที่สมองขาดเลือด จนทำให้หลอดเลือดตีบ อุดดัน หรือหลอดเลือดแตก จนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองสูญเสียการทำงาน และอาจทำให้สมองตายได้ ซึ่งโรคนี้บางคนเป็นแล้วทำให้ปากเบี้ยว แขน ขา อ่อนแรง และบางกรณีหากสมองที่ถูกทำลายไปโดยตำแหน่งควบคุมอวัยวะส่วนไหน ก็จะทำให้ส่วนนั้นสูญเสียการทำงานไป ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) นั้น จะส่งผลทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลำบาก และยากยิ่งขึ้น เพราะมีอาการอ่อนแรง เมื่อทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเสร็จสิ้น ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติที่สุด
กายภาพบำบัดช่วยฟื้นฟูโรคหลอดเลือดสมองอย่างไรได้บ้าง
เนื่องจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีภาวะสูญเสียการควบคุมของร่างกาย และมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เมื่อถึงขั้นตอนการฟื้นฟู จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำกายภาพบำบัดในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อการแก้ไข ฟื้นฟู และป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะตามมา ซึ่งหากเลยระยะเวลา 6 เดือน จะทำให้การฟื้นฟูยากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การทำกายภาพบำบัดจึงช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) กลับมาใช้ชีวิตปกติ และทำกิจกรรมประจำวันได้ใกล้เตียงคนปกติมากที่สุด และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ นอกจากนักกายภาพบำบัดจะช่วยฟื้นฟูทางกายแล้ว นักกายภาพบำบัดยังประเมินผลทางด้านจิตใจ และวางแผนร่วมกับนักจิตวิทยา เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยอีกด้วย เมื่ออารมณ์ทางจิตใจดีขึ้น การฟื้นฟูทางร่างกายก็จะดีขึ้นอีกด้วย เพราะถ้าจิตใจดีขึ้นก็จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยบรรลุเป้าหมายในระยะยาวได้เร็วยิ่งขึ้น
Golden Period หัวใจสำคัญในการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
Golden Period หรือช่วงเวลาทองของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง คือ หลังผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านช่วงวิกฤติ ระยะเวลาที่ได้ผลดีที่สุดในการฟื้นฟูสมองและร่างกาย (Golden Period) คือ ระยะเวลาไม่เกิน 3-6 เดือนแรกหลังเกิดภาวะโรค ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมองตีบ แตกหรือตันก็ตาม เนื่องจากสมองและร่างกายสามารถฝึกและพัฒนาได้ดีหากผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกต้องและถูกวิธี
วิธีการรักษา และบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายด้วยการทำกายภาพบำบัด ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ประกอบไปด้วย
- การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ : ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่หลังจากผ่านช่วงแรกของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มักจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อตามมา โดยการเกร็งของกล้ามเนื้อนี้จะมีผลให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยหดรั้ง สูญเสียความยืดหยุ่น นักกายภาพบำบัดจึงจำเป็นจะต้องให้การรักษาด้วยการยืดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการเกร็งและเพื่อความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อสำหรับเตรียมความพร้อมในการออกกำลังกายในลำดับต่อไป
- การดัดและขยับข้อต่อเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว : ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่ได้มีการขยับร่างกายเป็นเวลานานหรือไม่ได้ลุกยืน เดินลงน้ำหนัก จะมีผลทำให้ข้อต่อของผู้ป่วยยึดติดไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มช่วงองศาการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการขยับข้อต่ออย่างถูกต้องและเหมาะสมโดยนักกายภาพบำบัดเพื่อให้ข้อต่อสามารถเคลื่อนไหวในองศาการเคลื่อนไหวที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นการขยับข้อต่อยังสามารถลดความเจ็บปวดจากการตึงรั้งของเนื้อเยื่อรอบๆข้อได้อีกด้วย
- การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ : อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้นจะมีภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อครึ่งซีกร่างกาย ผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ทำงานอย่างถูกต้อง และแนะนำท่าทางการออกกำลังการที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตหรือช่วยเหลือตัวเองได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
- การฝึกการทรงตัว : ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความเสี่ยงที่จะล้มง่ายเนื่องจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีการอ่อนแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว และในบางรายมีการสูญเสียการรับความรู้สึกในส่วนของการเคลื่อนไหวของข้อต่อไป ทำให้ประสิทธิภาพในการทรงตัวหรือการรักษาความมั่นคงให้กับร่างกายน้อยลง การฝึกการทรงตัวในท่านั่ง ท่ายืน หรือท่าเดิน จึงเป็นส่วนช่วยสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับผู้ป่วยและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสี่ยงจากการล้มได้
- การฝึกการใช้มือและกิจวัตรประจำวัน : เมื่อผู้ป่วยมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากขึ้น การฝึกการใช้มือในการหยิบจับสิ่งของ เช่น การหยิบแก้วน้ำ การรับประทานอาหาร การเปลี่ยนเสื้อผ้า ติดกระดุมหรือการช่วยเหลือตัวเองในการลุกนั่ง เปลี่ยนท่าทางได้อย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรต่างๆได้ด้วยตัวเอง
- การฝึกเดิน : ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การเดินจะเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้ป่วยจะต้องเจอ และต้องได้รับการวิเคราะห์ปัญหาอย่างละเอียดเพื่อนำไปสู่การฝึกฝนการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้อย่างปลอดภัยและใกล้เคียงปกติมากที่สุด
- การฝึกหายใจ : ผู้ป่วยจะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกลุ่มที่ช่วยในการหายใจร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้ไม่ลึก และเหนื่อยง่าย ผู้ป่วยจึงควรได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการฝึกการหายใจ
- การฝึกพูดและกลืน : ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีปัญหาในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลิ้น กล้ามเนื้อเคี้ยว และกล้ามเนื้อใบหน้า มักจะพบว่าบางครั้งผู้ป่วยจะมีน้ำลายไหลบริเวณมุมปาก สำลัก หรือพูดไม่ชัด ไม่เป็นคำ ดังนั้นการกระตุ้นด้วยการฝึกพูด ฝึกกลืน จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาความสามารถในการพูดและกลืนได้ดีขึ้นและป้องกันในส่วนของโรคแทรกซ้อนจากการสำลักอาหารได้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถติดต่อได้ที่
LINE สอบถามรายละเอียด @kinrehab (มี @ ข้างหน้า) หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id