ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า รักษาอาการข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุจากการที่ผิวข้อเข่าซึ่งเป็นกระดูกอ่อนเริ่มถูกทำลาย ทำให้ผิวข้อไม่เรียบและน้ำหล่อเลี้ยงในเข่าลดลง เกิดการเสียดสีระหว่างข้อเข่า ทำให้เริ่มมีเสียงดังในเข่าหรือเจ็บปวดจนเคลื่อนไหวลำบาก ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลง ในปัจจุบันมีทางเลือกในการบรรเทาอาการเจ็บปวดของข้อเข่าเสื่อมได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน การรับประทานยา หรือการทำกายภาพบำบัด ถ้าได้รับการรักษาดังที่กล่าวมาแล้วอาการไม่ดีขึ้น การฉีดยาเข้าในบริเวณข้อเข่าก็เป็นทางเลือกในการรักษาอีกหนึ่งวิธี ที่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม โดยไม่ต้องผ่าตัดและลดระยะเวลานอนพักรักษาตัวเป็นเวลานานได้
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดยาข้อเข่าคืออะไร
เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการอักเสบจากข้อเข่าเสื่อม โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้
การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม
การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม(Hyaluronic Acid) หรือเรียกกันทั่วไปว่าสารหล่อลื่นเป็นสารที่ผลิตเลียนแบบคุณสมบัติน้ำหล่อเลี้ยงข้อตามธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่นและดูดซับแรงกระแทกให้กับกระดูกอ่อนข้อเข่า ในผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเทียมเข้าไปในข้อ จะสามารถช่วยลดอาการปวดหรือ อาการเข่าอักเสบ จากภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ ทำให้ข้อเข่ากลับมาใช้งานได้ดีขึ้น การฉีดน้ำข้อเข่านี้จะได้ผลดีในคนที่มีภาวะโรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรกไปจนถึงะยะปานกลาง
- ขั้นตอนการรักษา แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ ก่อนที่จะฉีดสารไฮยาลูรอนิคเข้าไปตรงข้อเข่าบริเวณที่ต้องการรักษา โดยทั่วไปการรักษาจะฉีดสัปดาห์ละครั้งต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ถึง 5 สัปดาห์ และผลของการรักษาจะอยู่ได้นานประมาณ 6-12 เดือน*
- ผลข้างเคียง อาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด แต่จะหายเองได้ และอาการอื่นๆที่พบได้น้อย เช่น เลือดไหล อักเสบติดเชื้อ บวม
การดูแลตัวเองหลังฉีดยาข้อเข่า
หลังการฉีดยาข้อเข่า แพทย์จะให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย เช่น งดการออกกำลังกาย เลี่ยงการทำกิจกรรมที่หนักๆ หรือต้องใช้แรง 3-5 วันหรือจนกว่าอาการปวดและบวมจากการฉีดยาข้อเข่าจะหายไป ผู้ป่วยสามารถใช้การประคบเย็นเพื่อลดอาการปวด บวมได้
การฉีดยาข้อเข่าไม่ใช้เป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้ ควรทำโดยแพทย์ผู้เชียวชาญเฉพาะทางและมีประสบการณ์ในการฉีดยาข้อเข่าเท่านั้น เพราะการฉีดยามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพ้ยาได้เช่นกัน นอกจากนี้ผลลัพธ์ในการรักษายังแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย ในบางรายที่รักษาแล้วไม่ได้ผลดี แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์