ธาราบำบัดคืออะไร
การรักษาทางกายภาพบำบัด มีให้เลือกหลายวิธีตามความเหมาะสม แต่หนึ่งในวิธีรักษาทางกายภาพบำบัดที่ได้รับความนิยม และมีประสิทธิภาพคือ ธาราบำบัด ธาราบำบัดเป็นวิธีที่ใช้น้ำเป็นตัวกลางในการรักษาโดยอาศัยคุณสมบัติของน้ำ เช่น ความดันน้ำ แรงลอยตัว ที่ช่วยพยุงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ลดแรงกดที่กระทำต่อข้อต่อ ทำให้เคลื่อนไหวในน้ำได้ง่ายและอิสระมากขึ้น และยังมีผลต่อการลดปวดลดบวมของร่างกาย คลื่นและกระแสน้ำจะมีผลต่อการช่วยและให้แรงต้านในการออกกำลังกายกล้ามเนื้อ โดยธาราบำบัดมีหลายรูปแบบให้เลือกประยุกต์ใช้ตามเป้าหมายของการรักษาตามผลทางสรีรวิทยาที่ต้องการ
ประโยชน์ของการรักษาด้วยธาราบำบัด
- ลดอาการปวดตามข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย
- ลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่มีปัญหา
- เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรง
- เพิ่มมุมการเคลื่อนไหวของข้อต่อที่มีปัญหาข้อยึดติด
- กระตุ้นความรู้สึกของข้อต่อ เพิ่มความสามารถในการทรงตัว ลดความเสี่ยงในการล้ม
- ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบหายใจ และการไหลเวียนเลือด
- ผ่อนคลายความเครียด สร้างความมั่นใจในการทำกิจกรรม
- ลดอาการบวม
มีงานวิจัยที่ทำการศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการเข่าเสื่อมต่อการรักษาด้วยธาราบำบัดว่ามีผลต่ออาการปวด ความสามารถในการทำกิจกรรมและคุณภาพชีวิตอย่างไร โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับโปรแกรมการรักษาด้วยธาราบำบัดในสระน้ำอุ่นใช้เวลาครั้งละ 40 นาที จำนวน 3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าผู้สูงอายุที่มีอาการเข่าเสื่อมมีอาการปวดลดลง มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาความสามารถในการทำกิจกรรมและเพิ่มคุณภาพชีวิตอีกด้วย
ธาราบำบัดเหมาะกับใครบ้าง
จากหลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยพบว่าธาราบำบัดให้ผลการรักษาที่ดีในกลุ่มโรคและกลุ่มอาการดังต่อไปนี้
กลุ่มอาการด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
– ผู้ที่มีอาการปวด จากโรคข้ออักเสบและจากการเสื่อมของข้อต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น การปวดเข่า ปวดหลัง
ปวดไหล่
– ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ที่มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ
– ผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรมที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน
– ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังการผ่าตัด หลังการถอดเฝือก ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อและการยึดติดของมุมการเคลื่อนไหว
– หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการปวดหลัง และช่วยเพิ่มความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ
– นักกีฬาที่มีอาการบาดเจ็บ หรือช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังการแข่งขันหรือฝึกซ้อม
– ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก การบริหารในน้ำจะช่วยลดแรงกระแทกของข้อต่อ
กลุ่มอาการด้านระบบประสาท
– ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่มีปัญหาการเกร็งตัวและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงปัญหาด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่ต้องการฝึกเดิน ฝึกการทรงตัวหรือทำกิจวัตรประจำวัน
กลุ่มอาการด้านระบบไหลเวียนเลือด
– ผู้ที่มีอาการบวมของแขนและขา จากปัญหาเรื่องการไหลเวียนเลือด
กลุ่มอาการด้านเด็ก
– เด็กที่มีพัฒนาการช้า และมีการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อบกพร่อง
ใครบ้าง? ไม่สามารถทำธาราบำบัดได้
- มีโรคติดต่อทางผิวหนัง
- มีไข้
- มีแผลเปิด
- มีการติดเชื้อในร่างกาย
- มีความผิดปกติของระบบหายใจและไหลเวียนเลือด เช่น มีภาวะหัวใจล้มเหลว การขยายตัวของทรวงอกน้อย มีปัญหาความดันโลหิตสูงหรือต่ำเกินไปที่ควบคุมไม่ได้
- ไม่สามารถกลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะได้
- มีประจำเดือน
- โรคชัก
- แพ้คลอรีน (กรณีสระคลอรีน)
- มีปัญหาด้านสภาพจิตใจที่กลัวการลงน้ำ
สิ่งที่ต้องคำนึงในการรักษาด้วยธาราบำบัด
– ไม่ควรลงสระทันทีหลังทานอาหารเสร็จ ควรเว้นระยะเวลาไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
– ควรเลือกชุดแต่งกายให้เหมาะสมในการรักษาหรือออกกำลังกายในน้ำ
– อุปกรณ์ที่ใช้ในการออกกำลังกายในน้ำควรเลือกตามความเหมาะสมของการฝึก มีทั้งใช้ฝึกการทรงตัว ช่วยพยุงตัวในน้ำ ใช้เพิ่มแรงต้านในการออกกำลังกายในน้ำ ตัวอย่างเช่น ห่วงยาง, แผ่นโฟมลอยน้ำ, Water Dumbell และ Aqua Water Belt เป็นต้น
– อุณหภูมิน้ำอุ่นที่เหมาะสม 34 – 37 องศาเซลเซียส ซึ่งมีผลต่อการไหลเวียนเลือดในร่างกาย
– ระดับความลึกของน้ำให้พอดีต่อการฝึก ยิ่งระดับน้ำลึกขึ้นยิ่งมีแรงดันต่อร่างกายมากขึ้น
– หากมีโรคประจำตัวที่ต้องให้ความระมัดระวังมากขึ้น ควรแจ้งก่อนการฝึกทุกครั้ง และต้องหยุดการรักษาหรืออกกำลังกายในน้ำทันที หากมีอาการแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และหน้ามืด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล