ปวดข้อศอกด้านนอก อย่านิ่งนอนใจ !
Tennis elbow
โรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก (Tennis elbow) เป็นโรคที่พบมากในกลุ่มนักกีฬาเทนนิส นักกีฬาแบดมินตัน นักกีฬากอล์ฟ หรือ หนุ่มสาวพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้คีย์บอร์ด และ เม้าส์ในการทำงาน ซึ่งการวางตัวของข้อมือมักจะอยู่ในมุมที่ต้องกระดกขึ้นเล็กน้อยเป็นปกติ แต่ถ้าคีย์บอร์ด และ เม้าส์อยู่ในตำแหน่งที่ทำให้ข้อมือกระดกมากขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นอาการปวดของข้อศอกทางด้านนอกได้ และอีกปัจจัยนึงคือการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบา มักมีการกระดกข้อมือและเหยียดศอกอยู่เสมอ เช่น การปัดกวาดบ้าน การทาสี การตีกลอง เป็นต้น ขณะที่ทำงานกล้ามเนื้ออาจทำงานในลักษณะเกร็ง หรือทำงานซ้ำๆ กัน ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือดำเนินชีวิตได้ อาการปวดบริเวณข้อศอกนี้จัดเป็นกลุ่มโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว
อาการ
• มีอาการเจ็บบริเวณข้อศอกเมื่อมีการทำงานของกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านนอกของแขน
• มีอาการเจ็บเมื่อทำการยืดหรือกดกล้ามเนื้อ
• มีอาการเจ็บลักษณะเจ็บแบบแปล็บๆเจ็บแหลมๆอยู่กับที่
• มีอาการเจ็บร้าวไปบริเวณอื่น ซึ่งอาการเจ็บร้าวนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีปัญหาแบบเรื้อรัง หรือเกิดการบีบรัดเส้นประสาท หรือการตึงตัวของเส้นประสาทร่วมด้วย
• มีอาการเจ็บลักษณะเป็นๆ หายๆ หรือเจ็บตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และลักษณะการเกิดของโรค
• มีอาการเจ็บ บวม และร้อนบริเวณด้านนอกของข้อศอก
สาเหตุ
กล้ามเนื้อกลุ่มนี้มีหลายมัด บางมัดทำหน้าที่กระดกข้อมือ บางมัดทำหน้าที่กระดกนิ้ว และบางมัดทำหน้าที่ร่วมกับตัวอื่นๆ ในการงอศอก กล้ามเนื้อเหล่านี้จะมีจุดเกาะที่บริเวณปุ่มกระดูกที่อยู่ด้านนอกของข้อศอก เมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้ทำงานหนัก จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้หรือเอ็นบริเวณด้านนอกของข้อศอกมีการฉีกขาด นั่นหมายถึงมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยการอักเสบ หากไม่รีบทำการรักษา หรือยังทำพฤติกรรมเดิมใช้กล้ามเนื้อเหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำ จนกระทั่งเกิดการบาดเจ็บในลักษณะเรื้อรังได้
การรักษา
• หากมีการอักเสบอยู่ ควรประคบเย็น
• หากไม่มีการอักเสบแล้ว ทำการนวด คลึง และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่น ของกล้ามเนื้อ และควรปรับสภาพการทำงานให้เหมาะสม
• การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่
• หยุดพักการทำกิจกรรมต่างๆ
• การใช้ผ้ารัดเพื่อประคองและกระชับกล้ามเนื้อ โดยรัดบริเวณใต้ต่อข้อศอกลงมาก็สามารถช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานลดลงได้
• การทำกายภาพบำบัด
• การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock Wave)
ขอขอบคุณข้อมูล : ดร.คีรินท์ เมฆโหรา