สาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีกีประเภท?

สาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีกี่ประเภท?

โรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. Ischemic Stroke เป็น “ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน” หรือ “ภาวะสมองขาดเลือด” พบได้ประมาณ 80% ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดจากการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในจนหนานูน แข็ง ขาดความยืดหยุ่น ทำให้รูของหลอดเลือดค่อยๆ ตีบแคบลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการลำเลียงเลือดลดลง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดจากหัวใจ หรือการปริแตกของผนังหลอดเลือดหลุดมาอุดตันหลอดเลือดในสม
2. Hemorrhagic Stroke เป็น “ภาวะหลอดเลือดสมองแตก” หรือ “ภาวะเลือดออกในสมอง” ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บจากการมีเลือดคั่งในเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองตายมักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดมีความเปราะเเละโป่งพอง และสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ภาวะโป่งพองของหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคเลือด โรคตับ การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด การได้รับสารพิษ การใช้สารเสพติด เป็นต้น

3. Transient ischemic attack (TIA) เป็น “ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว” มีอาการคล้ายโรคสมองขาดเลือด แต่มีอาการชั่วคราวมักเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประมาณ 15% ของผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว จะมีภาวะโรคหลอดเลือดสมองตามมาจึงถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบมาโรงพยาบาล เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

 

ในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง เราสามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีดังนี้

1. ความดันโลหิตสูง ​เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ควรควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 mmHg ในผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี, เป็นเบาหวาน หรือเป็นโรคไตวายเรื้อรัง และควรควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 150/90 mmHg ในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี

2. โรคเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลก่อนอาหารให้อยู่ระหว่าง 80 – 130 mg/dl หรือ น้ำตาลสะสม (HbA1C) ให้น้อยกว่า 7 เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดในร่างกาย

3. คอเลสเตอรอลในเลือดสูง การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง จะทำให้ร่างกายมีค่าไขมันไม่ดี (LDL) ในเลือดสูงซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

4. โรคอ้วน ควรควบคุมน้ำหนักให้มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในช่วง 18.5 – 25 ซึ่งคำนวณโดยวัดน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง

5. การขาดการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 – 40 นาที เป็นจำนวน 3 – 4 ครั้ง/ สัปดาห์

6. การสูบบุหรี่จัดและการดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์เกิน 2 หน่วย ( standard drink)/ วัน หรือมากกว่า 14 หน่วย/ สัปดาห์  ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์เกิน 1 หน่วย ( standard drink)/ วัน หรือมากกว่า 7 หน่วย / สัปดาห์ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยที่ 1 standard drink มีค่าเท่ากับ 10-12 กรัมของ ethanol alcohol เช่น 1 standard drink ของเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 4% จะมีปริมาณเท่ากับ 300 ml เป็นต้น

7. การใช้สารเสพติด

8. การหยุดหายใจขณะนอนหลับตอนกลางคืน ผู้ที่มีประวัติหยุดหายใจขณะนอนหลับตอนกลางคืน ซึ่งพบได้บ่อยในคนที่นอนกรนดังๆ หรือมีน้ำหนักตัวมากๆ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำ sleep test ดูว่ามีออกซิเจนในเลือดต่ำในช่วงนอนหลับหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตามมาได้

9. หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองบริเวณคอตีบ พบในผู้ที่มีอายุมาก มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ สามารถตรวจคัดกรองได้โดยการทำอัลตร้าซาวนด์ดูหลอดเลือดบริเวณคอ

10. หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือมีลิ้นหัวใจผิดปกติ สามารถทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดสมองได้ สามารถตรวจคัดกรองได้โดยการตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (echocardiogram)

 

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

โรคสมองขาดเลือด 

  • การให้ยาสลายลิ่มเลือด (Tissue plasminogen activator, t-PA) ทางหลอดเลือดดำภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง นับจากเริ่มมีอาการ ช่วยเพิ่มโอกาสฟื้นตัวจากความพิการได้ 1.5-2.5 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาโดยที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดเลือดออกในสมองได้ 6% หลังได้รับยา
  • การให้ยาต้านเกล็ดเลือด
  • การนอนพักฟื้นในหอผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด (stroke unit)
  • การผ่าตัดเปิดกระโหลกพิจารณาทำในผู้ป่วยที่มีสมองขาดเลือดเป็นบริเวณกว้างเพื่อลดความดันในสมองลง ซึ่งสามารถลดอัตราการตายของผู้ป่วยได้

โรคเลือดออกในสมอง

  • การนอนพักฟื้นในหอผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด (stroke unit) เพื่อควบคุมความดันโลหิต ในช่วง 1 อาทิตย์แรกหลังมีอาการ
  • การผ่าตัดพิจารณาทำในผู้ป่วยที่มีเลือดออกปริมาณมากหรือมีความดันในสมองสูง

 

โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้

1. ควรปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต
  – เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมและไขมันอิ่มตัวสูง

  – ออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง อย่างน้อยครั้งละ 30-40 นาที 

  – งดสูบบุหรี่

  – พักผ่อนให้เพียงพอและคลายเครียดสม่ำเสมอ 

  – ควบคุมน้ำหนัก ควรมีค่า BMI < 25 kg/m2

2. ควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีเมื่ออายุมากขึ้น 
  – ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือด 

  – ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น การฟังเสียงหัวใจและนับชีพจร โดยแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันและเตรียมตัวสำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

    – ตรวจคัดกรองภาวะหลอดเลือดที่คอตีบ โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสูง เช่น เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรืออายุมากกว่า 50 ปื ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุรี่ หรือเป็นเบาหวาน

3. รู้จักป้องกันการเป็นซ้ำ

 สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองและผ่านการรักษาโดยแพทย์จนพ้นวิกฤติแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างสม่ำเสมอไม่ปรับยาและหยุดยาเอง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาหรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองเป็นซ้ำ

4. เมื่อมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นแล้ว รีบไปพบแพทย์ด่วน

    – เพราะโรคนี้เรื่องเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นหากมีอาการปากเบี้ยว แขนขาไม่มีแรง พูดไม่ชัด ให้ไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา และเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพิการและเสียชีวิตได้

 

ที่มา : http://www.sikarin.com/content/detail/131/stroke-

 

สอบถามข้อมูลการฟื้นฟู
และนัดดูสถานที่

 

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่ม นัดหมายเข้ามาดูสถานที่ ติดต่อ
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
     
 
 โทร : 091-803-3071 , 095-884-2233 , 02-020-1171
 LINE สอบถามรายละเอียด @kinrehab (มี @ ข้างหน้า) หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id
 Youtube Channel : https://cutt.ly/TyTh3bd
 แผนที่ไป KIN : http://bit.ly/2VvPDq6

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab