การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

 

     ผู้ที่จะให้การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องโรค อาการและอาการแสดง พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น และการดูแลที่เป็นพิเศษ

     อัลไซเมอร์ เป็นชนิดหนึ่งของโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นความผิดปกติของสมองที่เกิดขึ้น ช้า ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เซลประสาทสมองตายไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ความสามารถของสมองลดลง โดยเฉพาะในเรื่องของการจดจำ ความรอบรู้ ความเฉลียวฉลาด  และการคิดอย่างมีเหตุผลลดน้อยลง รวมทั้งการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวลง และยังมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและบุคลิกภาพ มีอาการทางจิตประสาท  ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงาน หรือการใช้ชีวิตของบุคคลนั้นอย่างชัดเจน  

แนวทางการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

  1. กระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลตนเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การทำความสะอาดร่างกาย การอาบน้ำ จัดเตรียมอุปกรณ์ตามลำดับก่อนหลัง ใช้อุปกรณ์ที่คุ้นเคย สะดวก ไม่ซับซ้อน บอกเป็นขั้นตอน ช้า ๆ กำหนดเวลาอาบน้ำ การเข้าห้องน้ำ ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันที่เคยทำ ระวังเรื่องน้ำร้อนลวก  ให้เลือกเสื้อผ้าที่จะใส่เองเท่าที่จะทำได้ จนกระทั่งทำเองไม่ได้  จัดอาหารให้พอดีในแต่ละมื้อ  กำหนดเวลาในการอาบน้า การขับถ่าย โดยสังเกตดูและเลือกเวลาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ตามความพร้อมของผู้ป่วย  จะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้งานที่ต้องทำ ไม่สับสน  ไม่เร่งรีบ สิ่งสำคัญที่ควรระลึกเสมอ  ถ้าผู้ดูแลไม่ว่าง และเร่งรีบให้ผู้ป่วยทำตามตารางเวลาของเรา  จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีความไม่พอใจ โกรธ ก้าวร้าว  เกรี้ยวกราด ได้
  2. พยายามคงความสามารถของผู้ป่วยที่มีอยู่ ชะลอความเสื่อมของสมอง ซึ่งในระยะเริ่มแรกอาจจัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ การใช้ภาพเป็นตัวสื่อ ทายภาพคนเด่น คนดัง ดาราภาพยนต์ สมาชิกใครอบครัว หรือการจัดภาพอัลบั้มของคนในครอบครัว การคิดเลขบวกเลข  การเล่นเกมส์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการพัฒนาสมองของผู้ป่วย
  3. จัดการกับพฤติกรรม อารมณ์ต่าง ๆที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ไม่ยอมอาบน้ำ ปัญหาการกิน การนอนเปลี่ยนแปลง  อารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เกรี้ยวกราด  และอาการทางจิตประสาท หลงผิด  เห็นภาพหลอน หวาดระแวง  ได้แก่
    1. บอกเล่า เช่นผู้ป่วยก้าวร้าว ให้บอกผู้ป่วยโดยใช้น้ำเสียงนุ่มนวล บอกผู้ป่วยว่าจะทำอะไรให้  น้ำเสียงไม่ข่มขู่  
    2. เบี่ยงเบน  ไปในเรื่องอื่นที่ ผู้ป่วยมีความสนใจเดิม โดยไม่ต้องโต้เถียง ไม่ต้องใช้เหตุผล แม้ว่าผู้ป่วยจะเข้าใจผิด เพราะไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น เช่น เปิดเทปเพลงที่ผู้ป่วยชอบให้ฟัง  ร้องเพลง  พาออกไปนั่งรถเล่น  จะทำให้ผู้ป่วยอารมณ์ดีขึ้น ลืมเรื่องต่าง ๆ ได้ง่าย  ซึ่งเป็นการนำจุดดีของผู้ป่วยสมองเสื่อม ความจำสั้น  มาใช้ให้เป็นประโยชน์  หรือใช้วิธีการ ตามน้ำ  ในระยะแรก และเบี่ยงเบนให้ผู้ป่วยทำเรื่องอื่นต่อไป ไม่ขัดใจ หรือพยายามหาเหตุผลมาลบล้าง เพราะไม่เป็นประโยชน์เลย   
    3.
    บอกซ้ำ ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร พูดช้า ๆ ที่ละขั้นตอน และสุดท้ายใช้วิธี  
    4.
     แบ่งเบา/ บำบัด  เช่นใช้วิธีนวด เพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย  ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมบางอย่างที่ง่าย ๆ เบา ๆ ไม่ซับซ้อน จัดสิ่งแวดล้อมให้สงบ จัดระบบการดูแลอย่างเป็นระเบียบ จะช่วยให้ผู้ป่วยคงความสามารถของเขาต่อไปได้
  4. ถ้าหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่นเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ต้องพยายามควบคุมโรคเหล่านี้ให้ได้ ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน มิเช่นนั้น อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการของผู้ป่วยยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม
  5. ดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นการเคาะปอด ดูดเสมหะ การให้ออกซิเจน การเตรียมอาหารสำหรับให้ทางสายให้อาหารผ่านทางจมูก หรือหน้าท้อง การให้อาหาร ระวังเรื่องสำลักอาหาร การทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยเพื่อป้องกันข้อติดแข็ง ตลอดจนการ พลิกตะแคงตัวผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ เป็นต้น ระยะนี้ผู้ดูแลอาจจะมีการเตรียมพร้อมในการยอมรับกับการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

    ผู้ดูแลควรใส่ใจในการดูแลตนเอง  เพราะการดูแลผู้ป่วย ดูแลผู้สูงอายุ นาน ๆ ทำให้มีความเครียดเกิดขึ้น หาเวลาในการผ่อนคลาย ใส่ใจกับสุขภาพของตนเอง ถ้ามีโรคประจำตัว ดูแลตนเองและควบคุมโรคให้ได้

      ผู้เขียนบทความ   อ. สมทรง  จุไรทัศนีย์     อาจารย์พยาบาล และ กรรมการสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

     
     
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่ม นัดหมายเข้ามาดูสถานที่ ติดต่อ
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
 
 โทร : 091-803-3071 , 095-884-2233 , 02-020-1171
 LINE สอบถามรายละเอียด @kinrehab (มี @ ข้างหน้า) หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id
 Youtube Channel : https://cutt.ly/TyTh3bd
 แผนที่ไป KIN : http://bit.ly/2VvPDq6

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab