ปวดหลังส่วนหลัง อันตรายของวัยทำงาน

อาการปวดหลังสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ส่วนที่มีอาการปวด ได้แก่ ปวดหลังส่วนบน ปวดหลังส่วนกลาง และปวดหลังส่วนล่าง โดยอาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน โดยจะมีอาการปวดหลังตั้งแต่ระดับคอลงไปจนถึงบริเวณก้นกบ โดยอาการส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในบริเวณบั้นเอวไปจนถึงก้นกบ

อาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) หมายถึง อาการปวดหลัง กล้ามเนื้อหลังตึงหรือมีอาการหลังแข็ง ในตําแหน่งตั้งแต่หลังชายโครงไปถึงส่วนล่างของแก้มก้น โดยบางกรณีจะมีอาการร่วมกับอาการปวดร้าวลงไปที่ขา ซึ่งปัญหาสําคัญของอาการปวดหลังส่วนล่าง คือ อาการปวดและการไม่สามารถดําเนินชีวิตได้เหมือนปกติ

อาการปวดหลังสามารถแบ่งตามระยะเวลาได้ 3 ประเภท ได้แก่
  • อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน (Acute low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์
  • อาการปวดหลังกึ่งเฉียบพลัน (Subacute low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 3 เดือน
  • อาการปวดหลังเรื้อรัง (Chronic low back pain) คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน
 
โรคปวดหลังส่วนล่าง เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
1. เกิดจากการใช้งาน อาทิ การนั่งนาน การยืนนาน หรือการก้มๆ เงยๆ หรือการก้มยกของหนัก 
2. เกิดจากการเสื่อมของข้อต่อกระดูกหลังตามวัย หรือจากการทำงาน ทำให้ข้อต่อเสื่อม และอักเสบส่งผลให้เกิดอาการปวดได้
3. เกิดจากเส้นประสาทบริเวณหลังถูกกดทับ ทำให้มีอาการปวดมาบริเวณหลังส่วนล่าง
 
   อาการจะปวดหน่วงๆ ปวดร้าวบริเวณหลังส่วนล่างและบริเวณสะโพก อาการจะเป็นๆ หายๆ บางครั้งอาการจะเป็นมากขึ้นตามการใช้งาน เช่น ก้มยกของหนัก หรือนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน  หากมีอาการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย จะมีอาการปวดร้าวลงบริเวณสะโพกและลงบริเวณขา ร่วมกับมีอาการชา หากเป็นมาก จะทำให้เดินได้ไม่ไกล ต้องหยุดพักถึงจะเดินต่อได้ หากเป็นมากขึ้นไปอีก จะทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะอุจจาระได้

 

อาการปวดหลังส่วนล่าง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ โดยโรคเกี่ยวกับหลังที่พบได้บ่อยๆ อาทิ

  • โรคของเอ็นและกล้ามเนื้อหลัง
  • โรคความเสื่อมข้อติดกระดูกสันหลัง
  • โรคของหมอนรองกระดูก
  • โรคช่องกระดูกสันหลังตีบ
  • โรคเกี่ยวกับการผิดรูปของกระดูกสันหลัง
  • โรคกระดูกสันหลังติดเชื้อ
  • โรคการอักเสบที่ไม่ใช่ติดเชื้อ
  • โรคมะเร็งซึ่งรวมทั้งมะเร็งของกระดูกสันหลัง และ มะเร็งแพร่กระจาย มาที่กระดูกสันหลัง
  • โรคที่เกิดจากอุบัติเหตุของกระดูกสันหลัง

นอกจากนี้ อาการปวดหลังส่วนล่าง อาจเป็นอาการแสดงของโรคที่ไม่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ภาวะทางจิตใจ เป็นต้น

โรคที่พบได้บ่อยเมื่อมีอาการปวดหลังส่วนล่าง

1. โรคเอ็นกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute back strain) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งมักจะหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้มาพบแพทย์ อาการที่พบจะปวดหลังแต่ไม่ร้าวไปที่ขา สาเหตุเพราะกล้ามเนื้อหลังแข็งและเกร็งทำให้แนวแอ่นตัวของหลังหายไป เมื่อกดกล้ามเนื้อรอบ ๆ กระดูกสันหลังจะรู้สึกเจ็บ ลักษณะอาการดังกล่าวอาจเกิดร่วมกับอาการของโรคอื่น ๆ ที่มีลักษณะการเกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุ
2.โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Lumbar disc herniation) พบในผู้ป่วยอายุน้อยไม่เกิน 50 ปี มักเป็นแบบเฉียบพลัน ภายหลังการยกของหนักหรือหมุนตัวผิด ทำให้มีหมอนรองกระดูกแตกออกไปทับเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงไปที่ขา อาจตรวจพบอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาท L4, L5, S1 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบบ่อย
3.โรคช่องบรรจุไขสันหลังตีบ (Spinal stenosis) อาการปวดหลังและขาในผู้ป่วย จะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งใช้เวลาเป็นปี อาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างและมีการร้าวไปที่ก้น ต้นขาและน่อง มีลักษณะเฉพาะคือ มีอาการปวดหลังร้าวลงขาและมีอาการน่องชาหรือไม่มีแรงเมื่อมีการเดินไกล แต่เมื่อนั่งพักเพียงไม่กี่นาทีอาการก็จะดีขึ้นและสามารถเดินต่อไปได้อีก

หากมีอาการปวดหลัง ร่วมกับอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์
ปวดหลังเรื้อรัง ร่วมกับมีอาการชา อ่อนแรงตามแขนขา ปวดหลังและมีไข้ ปวดหลังในเวลากลางคืน นอนพักก็ไม่หาย ระบบขับถ่ายผิดปกติ

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ, โรงพยาบาลนครธน และโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล

 

สนใจสอบถามข้อมูลและติดตาม KIN
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
 
 โทร 091-803-3071 / 02-020-1171 / 095-884-2233
line แอด LINE@ สอบถามรายละเอียด   @kin.rehab   มี @ ข้างหน้า หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id
 Youtube Channel :  https://cutt.ly/TyTh3bd
 แผนที่ไป KIN :  http://bit.ly/2VvPDq6
 Website  :  https://www.kinrehab.com
 

 

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab