แขนขาอ่อนแรง อาการที่บอกว่าเป็น “โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน”

แขนขาอ่อนแรง อาการที่บอกว่าเป็น “โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน”

โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน โรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และคนอีกไม่น้อยต้องทนทุกข์ทรมานกับความพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต ทางเดียวที่เราจะปลอดภัยจากโรคนี้ได้ก็คือ การเฝ้าสังเกตอาการ...เพื่อรู้ทันและรีบรักษาได้อย่างทันท่วงที และหนึ่งในอาการแสดงที่เป็นสัญญาณเตือนจากโรคหลอดเลือดสมองตีบตันก็คือ "แขนขาอ่อนแรง" ซึ่งถือว่าเป็นอาการอันตราย และยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอื่นๆ จากการควบคุมร่างกายไม่ได้ด้วย

แขนขาอ่อนแรง คืออะไร?

เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หรือเซลล์ประสาทนำคำสั่ง จึงส่งผลให้แขนขาอ่อนแรงลง หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น กลืนลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ออก

อาการแขนขาอ่อนแรง มักจะเริ่มต้นจากบริเวณมือ แขน ขา หรือเท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน อาจจะเป็นในลักษณะ ยกแขนไม่ขึ้น กำมือไม่ได้ หยิบจับของอะไรแล้วหล่นง่าย จากนั้น หากมีอาการที่หนักหรือรุนแรงขึ้น ก็จะเริ่มลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ โดยอาจเป็นไปในลักษณะของการอ่อนแรงครึ่งซีก หรือทั้งตัว ซึ่งหากพบสัญญาณดังกล่าว นั่นเป็นการเตือนว่า มีความผิดปกติของโรคที่อยู่ในระดับอันตรายแล้ว

แขนขาอ่อนแรง อาการจากโรคหลอดเลือดสมอง

แขนขาอ่อนแรงนั้น เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง หรือมีเลือดออกและไปเบียดทับเนื้อสมอง ภาวะสมองขาดเลือด ส่วนใหญ่จะเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) หรือหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) คือผนังหลอดเลือดแตก ทำให้มีเลือดคั่งในเนื้อสมอง โดยโรคนี้ถือว่าร้ายแรงเป็นอย่างมาก เพราะมีโอกาสทำให้เกิด อัมพฤกษ์ อัมพาต (แขนและขาอ่อนแรงครึ่งซีก) ทำให้มีปัญหาทางด้านความคิด สูญเสียความจำ มีปัญหาทางด้านการพูด ขั้นที่รุนแรงมาก คือ อาจเสียชีวิตได้ สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้คือ อาการแขนขาอ่อนแรงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบนี้มักจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันทันทีทันใด ดังนั้นถ้าพบอาการแขนขาอ่อนแรงเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาและวินิจฉัยโดยด่วน 

รักษาอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน?

ในการรักษา โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญคือ การทำให้เซลล์ของสมองยังอยู่รอดให้ได้นานที่สุด ถ้าเราสามารถทำให้เลือดไหลเวียนได้ทันเวลา และในระดับที่เพียงพอ ก็สามารถทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งการรักษานี้จะต้องทำภายใน 3 ชั่วโมง และวิธีที่ใช้ในการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการเป็นสำคัญ มีแนวทางในการรักษา 3 แนวทาง ดังต่อไปนี้

  1. ให้ยาละลายลิ่มเลือด tissue plasminogen activator (TPA) เพื่อเปิดหลอดเลือด ให้เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้เร็วที่สุด เพื่อให้เซลล์สมองที่ยังไม่ตายฟื้นกลับมาทำงานได้ อาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต จะดีขึ้น สามารถลดอัตราความพิการ แขนขาอ่อนแรงของผู้ป่วยได้มาก ผู้ป่วยที่ได้รับยา TPA ประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผล CT Scan พบว่าไม่มีภาวะเลือดออกหรือเนื้อสมองตาย ระยะเวลาให้ยา TPA ไม่ควรเกิน 4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติ แต่ผู้ป่วยต้องไม่มีข้อห้ามต่างๆ เช่น มีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง มีภาวะเลือดออกของอวัยวะภายใน ค่าความแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นต้น เพราะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกได้ง่าย ฉะนั้นเมื่อมีอาการแขนขาอ่อนแรงผิดปกติ จึงต้องรีบมาพบแพทย์ทันที เพราะแพทย์ต้องพิจารณาซักประวัติตรวจร่างกาย ผลเลือด ผลเอกซเรย์ ดูยาที่ผู้ป่วยรับประทานประจำ และพิจารณาข้อห้ามต่างๆ ประกอบการตัดสินใจในการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดด้วย 
  2. ใช้ขดลวดสอดในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมอง สำหรับผู้ที่มาโรงพยาบาลภายใน 6 ชั่วโมง สามารถเปิดหลอดเลือดที่อุดตันในสมองโดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปที่หลอดเลือด เพื่อให้แพทย์ทราบตำแหน่งที่อุดตันได้ชัดเจนและใส่สายสวนเล็กๆ ผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบจนถึงตำแหน่งที่มีลิ่มเลือดอุดตัน ปลายสายมีขดลวดเล็กๆ สำหรับคล้องเกี่ยวเอาลิ่มเลือดออกมาได้ ทำให้หลอดเลือดเปิด เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น (ใช้เวลาในการทำ 1–5 ชั่วโมง) ความยากง่ายของการทำขึ้นอยู่กับสภาพหลอดเลือดและลิ่มเลือด ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นทันทีหลังทำ บางรายแขนขาอ่อนแรงขยับแขนขาไม่ได้ เมื่อรักษาแล้วกลับมาเดินได้ในวันรุ่งขึ้น
  3. การผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาผ่าตัด กรณีที่สมองบวมจนกดเบียดเนื้อสมองที่ดี หรือเบียดก้านสมอง ทำให้ผู้ป่วยซึมลง หมดสติ หยุดหายใจ ทำให้เสียชีวิต เป้าหมายของการผ่าตัดเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะและป้องกันสมองส่วนที่ดีอื่นๆ โดนทำลาย เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิต
อ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท
 
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
 
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่ม นัดหมายเข้ามาดูสถานที่ ติดต่อ
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
 
 โทร 095-884-2233 , 091-803-3071 , 02-020-1171
 แอด LINE@ สอบถามรายละเอียด @kin.rehab มี @ ข้างหน้า หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id
 Youtube Channel : https://cutt.ly/TyTh3bd
 แผนที่ไป KIN : http://bit.ly/2VvPDq6

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab