โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่มีผู้เป็นโรคนี้จำนวนไม่น้อย บางคนเป็นโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งถ้าหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคนี้ก็จะทุเลาลง กลับมาเป็นผู้ทีจิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่างๆ ดังเดิม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงหลักๆ จะเป็นในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม ร่วมกับอาการทางร่างกายต่างๆ
ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น สาเหตุอาจมาจากสิ่งเร้าที่เกิดจากการใช้ชีวิตในสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด ความขัดแย้ง การพลัดพราก การสูญเสีย เป็นต้น
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
- ความผิดปกติของสารเคมีภายในสมอง สารเคมีในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเปลี่ยนแปลงลดลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ทำให้เกิดความบกพร่องในการทำงานร่วมกัน
- กรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวเคยป่วย เราก็มีโอกาสและมีความเสี่ยงที่จะเป็นด้วยเช่นกัน
- การเผชิญเรื่องเครียด เชื่อว่าการเจอมรสุมชีวิตโดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว จะส่งผลทำให้เกิดความเครียด เช่น ตกงาน มีปัญหาเรื่องเงิน ความรัก การสูญเสียคนที่เรารัก ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้ทั้งหมด
จะทราบได้อย่างไรว่ากำลังเป็นโรคซึมเศร้า
- มีอาการซึมเศร้าตลอดทั้งวัน สิ้นหวัง ไม่มีค่า ว่างเปล่า รู้สึกเศร้า หรือหงุดหงิดง่าย กระวนกระวายใจ
- ไม่สามารถดึงตัวเองกลับสู่ภาวะปกติได้
- หมดความสนใจในงานอดิเรกหรือกิจกรรมต่างๆ
- เป็นเรื้อรัง 3 เดือนขึ้นไป
มีอาการทางกายอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือรับประทานเก่งขึ้นจนควบคุมไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้อยากก็รับประทานไปเรื่อยๆ เป็นต้น
แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยเครื่องกระตุ้นสมอง TMS
TMS (Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคซึมเศร้า ควบคู่กับการรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือการรับประทานยาปรับสมดุลสารเคมีสมอง โดยพบว่าเทคโนโลยี TMS สามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะการรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือดื้อยา มีภาวะข้างเคียงจากการรับประทานยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ฝันร้าย มากกว่านั้นคืออาการซึมเศร้าไม่ตอบสนองหลังรับประทานยา หรือรับประทานยาต้านเศร้ามาแล้วเกิน 1 ปี แล้วอาการไม่ดีขึ้น
โดยเทคโนโลยี TMS นี้ จะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองในจุดที่มีผลต่อโรค ลงลึกประมาณ 1-3 เซนติเมตร เพื่อปรับสมดุลในการทำงานของสมองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในเซลล์ประสาทในบริเวณนั้น ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพบว่ามีการทำงานของสมองส่วนหน้าทางซีกซ้ายน้อยกว่าปกติหรือการทำงานทางสมองส่วนหน้าซีกขวามากกว่าปกติ ซึ่งการรักษาด้วยเทคโนโลยี TMS จะช่วยปรับการทำงานของสมองให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาโรคทางจิตเวช ที่มีความปลอดภัย
การรักษาโดยเทคโนโลยี TMS ใช้เวลาเพียง 20-30 นาทีต่อครั้ง โดยแพทย์สมองและระบบประสาทจะเป็นผู้ประเมินว่าต้องทำกี่ครั้งรวมถึงความถี่ในการทำต่อสัปดาห์ เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล ไม่สร้างบาดแผลหรือความเจ็บปวดใดๆ ขณะรักษาแก่ผู้ป่วย นับว่าการรักษาโดยเทคโนโลยี TMS เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคที่น่าสนใจ เพราะทั้งปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียง และนอกจากจะสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้แล้ว โรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับระบบประสาทอย่าง ภาวะสมองเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาต จากเส้นเลือดในสมองตีบ พาร์กินสัน ย้ำคิดย้ำทำ ก็สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ด้วย
ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลนครธน
LINE : @kin.rehab (มี @ ข้างหน้า) หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id
แอด LINE@ สอบถามรายละเอียด @kin.rehab มี @ ข้างหน้า หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id