ความดันโลหิตคือค่าที่วัดแรงดันในหลอดเลือดแดง โดยใช้เครื่องวัดซึ่งมีหลายแบบทั้งที่เป็นแบบปรอท แบบเข็มวัด และแบบอัตโนมัติ ค่าที่วัดได้มี 2 ค่า โดยเขียนเป็นตัวเลข 2 ตัว คั่นกลางด้วยเครื่องหมาย เศษส่วน เช่น 130/80 มิลลิเมตรปรอท ตัวเลขตัวแรกหรือตัวบนเป็นค่าความดันโลหิตระหว่างหัวใจบีบตัว (ความดันโลหิตซิสโตลิกส์) ส่วนตัวเลขตัวที่สอง หรือตัวล่างเป็นค่าความดันโลหิตระหว่างหัวใจคลายตัว (ความดันโลหิตไดแอสโตลิกส์) ทั้งนี้จะต้องวัดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง กล่าวคือ ผู้ป่วยควรนั่งพัก อย่างน้อย 5 นาที วัดในท่านั่ง ใช้ผ้าพันแขนที่ได้มาตรฐาน และอยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ตรวจพบความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติอย่างเรื้อรังเป็นเวลานาน โดยทั่วไปหากผู้ใดวัดความดันโลหิตระหว่างหัวใจบีบตัวได้มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท หรือวัดความดันโลหิตระหว่างหัวใจคลายตัวได้มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย จากการสำรวจพบว่าผู้ใหญ่คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงประมาณร้อยละ 25 เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นความดันโลหิตสูงก็เพิ่มขึ้นด้วย
ทำไมจึงเป็นฆาตกรเงียบ? ปัญหาสำคัญของโรคความดันโลหิตสูงก็คือผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มากกว่าครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็น และถึงแม้จะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้แล้วก็ยังไม่ได้สนใจดูแลรักษา ส่วนหนึ่งเนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงมักไม่มีอาการ ทำให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้ไม่ได้ให้ความสนใจ เมื่อเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงจะเริ่มสนใจตนเองและรักษา ซึ่งทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร
โรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ รวมทั้งทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง จนอาจต้องรับการล้างไตได้ จึงถือว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นเหมือน "ฆาตกรเงียบ" ที่แฝงอยู่ในตัวผู้ป่วย
ที่มา : https://www.thaihealth.or.th/Content/53082-โรคความดันโลหิตสูง%20ภัยเงียบในตัวเรา.html
แอด LINE@ สอบถามรายละเอียด @kin.rehab มี @ ข้างหน้า หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id