หลอดเลือดแดงแข็ง เสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังหลายชนิด
โรคหลอดเลือด ชื่อเต็มคือโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบบนผนังหลอดเลือดแดงแล้วเกิดการตีบหรืออุดตันขึ้นที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง ไต ตา ขา ทําให้อวัยวะเหล่านั้นได้รับเลือดไม่พอและเกิดเป็นโรคเรื้อรังได้
กลไกการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
สมมติฐานที่เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ทั่วไปคือ โรคหลอดเลือดแดงแข็งตั้งต้นจากการอักเสบ ของผนังหลอดเลือดโดยมีอนุมูลอิสระไปทําปฏิกิริยากับไขมันเลว (LDL) ที่ผนังหลอดเลือดแล้วทําให้ เกิดการอักเสบของหลอดเลือดซึ่งนําไปสู่หลอดเลือดอุดตัน และเกิดโรคของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง ไต
กลไกนี้เริ่มต้นด้วยอนุมูลอิสระไปขโมยอิเล็กตรอนจากโมเลกุล LDL ทําให้มันกลายเป็นโมเลกุล อันตรายเรียกว่า oxLDL พอมีตัวอันตรายเกิดขึ้น ระบบของร่างกายก็เรียกเซลล์เม็ดเลือดขาวชื่อ แมคโครฟาจมาเก็บกินเพื่อทําลายเสีย แต่เนื่องจาก oxLDL มีจํานวนมาก กระบวนการเก็บทําลายนี้ ทําให้เกิดการอักเสบเฉพาะที่ผนังหลอดเลือดขึ้น กองทัพแมคโครฟาจเก็บกินจนตัวเองตายตามกันไปกลายเป็นซากเซลล์ที่เต็มไปด้วยคอเลสเตอรอลพอกอยู่บนผนังด้านในของหลอดเลือดเป็นตุ่ม เรียกว่า พลาก (Plaque) ขนาดของตุ่มนี้ค่อยๆ โตขึ้นๆ จนทำให้หลอดเลือดตีบ แต่ว่ายังไม่ตันเพราะมีเยื่อบุด้านในของหลอดเลือดคลุมตุ่มเอาไว้ ทําให้ผิว ของตุ่มเรียบและเลือดวิ่งผ่านได้ นานไปร่างกายพยายามซ่อมแซมโดยค่อยๆ ใส่พังผืดเข้ามาแทรก และเอาแคลเซียมมาเสริม ทําให้ผนังหลอดเลือดแข็งเหมือนหินจึงเรียกโรคนี้ว่าโรคหลอดเลือดแดงแข็ง(Atherosclerosis) กระบวนการอักเสบเรื้อรังนี้ ใช้เวลานานหลายปีหรือหลายสิบปี
เมื่อมีเหตุส่งเสริม จะทําให้ตุ่มไขมันนี้แตกออก ผิวที่บุไว้ดีเรียบร้อยกลายเป็นไม่เรียบ เป็นเหตุ ให้เลือดก่อตัวเป็นลิ่ม และอุดตันหลอดเลือดตรงจุดนั้นจนเลือดไหลผ่านไม่ได้เลย อวัยวะปลายทางจึง ขาดเลือดอย่างสิ้นเชิง ถ้าเป็นหัวใจก็เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ถ้าเป็นสมองก็เป็นโรคอัมพาต เฉียบพลัน หรือสมองเสื่อม เป็นต้น เนื่องจากหลอดเลือดเป็นท่อส่งเลือดให้ทุกอวัยวะทั่วร่างกาย การอักเสบเรื้อรังของหลอดเลือดจึงนําไปสู่โรคของอวัยวะสําคัญได้ทุกอวัยวะทั้งตัวหลอดเลือดเองในฐานะอวัยวะซึ่งจะทําให้เป็นโรคความดันเลือดสูง
กลไกการอักเสบของหลอดเลือด นอกจากจะตั้งต้นด้วยอนุมูลอิสระกับ LDL แล้ว ยังอาจตั้งต้นด้วยปัจจัยอื่น เช่น จากสารพิษที่ลอยอยู่ในกระแสเลือด (เช่น บุหรี่และยาปราบศัตรูพืช) จากการบาดเจ็บของหลอดเลือด จากอุบัติเหตุหรือแรงกระแทกในภาวะความดันเลือดสูง จากเชื้อโรค (เช่น การติดเชื้อที่เหงือกหรือที่อื่นแล้วเชื้อเข้ามาในกระแสเลือด) จากภูมิคุ้มกันทําลายตนเอง เช่น ในโรค ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ตัวโฮโมซิสเทอีนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระที่มักเกิดจากการขาด วิตามินบี 12 ก็ทําให้เกิดโรคได้ โดยกลไกทําให้เยื่อบุผิวในหลอดเลือดเสียการทํางาน กลไกกระตุ้น การก่อตัวของลิ่มเลือด และกลไกผลิตอนุมูลอิสระมาทําปฏิกิริยากับ LDL
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
วงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกการเกิดโรคนี้อย่างแท้จริง ทราบแต่ว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่เอื้อให้มีโอกาสเป็นโรคมากขึ้น หรือเป็นแล้วมีความรุนแรงมากขึ้นในระยะเริ่มต้นวงการแพทย์ ระบุปัจจัยเสี่ยงจากการวิจัยประชากรประมาณ 5,000 คน ในชุมชนฟรามิงแฮมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจําแนกปัจจัยเสี่ยงได้แค่ บุหรี่ คอเลสเตอรอล ความดันเลือดสูง เบาหวาน และพันธุกรรม
แต่ต่อมาได้มีงานวิจัย INTERHEART study [30] ทําการวิจัยกับผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ จํานวนราว 15,152 คน ใน 52 ประเทศทั่วโลก ซึ่งให้ภาพที่ครอบคลุมชัดเจนกว่าว่า มีปัจจัยเสี่ยง 9 อันดับแรกที่นําผู้ป่วยมาสู่การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันตามลําดับ ความสําคัญดังนี้ คือ 1. ไขมันในเลือดผิดปกติ 2. สูบบุหรี่ 3. เป็นเบาหวาน 4. ความดันเลือดสูง 5. อ้วนกลางตัว 6. ปัจจัยทางจิตและสังคม 7. การกินผัก ผลไม้น้อย 8. การออกกําลังกายน้อย 9. การดื่มแอลกอฮอล์ การจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคจึงควรมุ่งไปยังปัจจัยเสี่ยงทั้ง 9 ปัจจัยนี้
(ขอบคุณข้อมูลจาก :นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ และพญ.พิจิกา วัชราภิชาต, 2566, “Healthy Life Bible คัมภีร์สุขภาพดี สุขภาพดีได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง”, หน้า 168-169)