แค่สูบบุหรี่ก็เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้

แค่สูบบุหรี่ก็เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้

 

  บุหรี่เป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วการสูบบุหรี่นั้นส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งหากไม่ระวังอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การสูบบุหรี่เพียงไม่กี่มวนต่อวัน ก็สามารถทำให้เส้นเลือดแดงตีบแคบ และส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ลดลง นอกจากนี้สารพิษในบุหรี่ยังทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นทั้งขณะพัก และออกกำลังกายอีกด้วย

จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจกว่า 20% มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่โดยตรง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ทานยาคุมกำเนิด หรือเป็นโรคเบาหวาน หากยังสูบบุหรี่ต่อไปก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้สูงขึ้นไปอีก

นอกจากโรคหัวใจแล้ว การสูบบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย เนื่องจากสารพิษในบุหรี่จะไปทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตัน และแตกของเส้นเลือดในสมองได้ง่าย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ในที่สุด

 

บุหรี่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร

   โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะที่เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หลอดเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะที่ร้ายแรงและอาจถึงแก่ชีวิตได้ การสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง สารเคมีในบุหรี่สามารถทำลายหลอดเลือด และทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้


ทำไมการสูบบุหรี่ถึงทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง?

  การสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว และตีบลง ซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง นอกจากนี้ สารเคมีในบุหรี่ยังทำให้เกล็ดเลือดจับตัวกันเป็นลิ่มได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองได้

ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2-4 เท่า และความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบและระยะเวลาที่สู ซึ่งทฤษฎีนี้มีผลงานวิจัยที่รองรับอีกด้วยว่า การสูบบุหรี่นั้น ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ คือ

  1. งานวิจัยเรื่อง "Cigarette Smoking and Risk of Different Pathologic Types of Stroke: A Systematic Review and Dose-Response Meta-Analysis" ที่ตีพิมพ์ใน Frontiers in Neurologyได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาต่าง ๆ รวม 25 ชิ้น ครอบคลุมจำนวนผู้เข้าร่วมมากกว่า 3.7 ล้านคน พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทุกประเภท ความเสี่ยงนี้เพิ่มขึ้นตามปริมาณบุหรี่ที่สูบต่อวัน นอกจากนี้ยังพบว่าการเลิกสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานก็สามารถลดความเสี่ยงนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ ( ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.frontiersin.org/articles)

  2. งานวิจัยจาก American Heart Association พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแบบมีเลือดออก (subarachnoid hemorrhage) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีพันธุกรรมเสี่ยงในการสูบบุหรี่ ความเสี่ยงนี้เพิ่มขึ้นตามปริมาณการสูบที่มากขึ้น งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในสหราชอาณาจักร (ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.heart.org/en/news/2021/01/14 )

  3. งานวิจัยจาก Oxford Academic ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่และพบว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบ

(ขอบคุณข้อมูลจาก : https://academic.oup.com/eurjpc/article/6/4/207/5933730 )

ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันว่า การสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดสมองทุกประเภท การลด หรือเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงนี้ ดังนั้น ควรลด เลิก และเลี่ยงในการสูดกลิ่นควันบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

ควรทำอย่างไรถึงจะหลีกเหลี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้

สำหรับคนที่สูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง การเลิกสูบบุหรี่สามารถทำได้โดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและค่อยๆ ลดจำนวนบุหรี่ที่สูบลง หรืออาจใช้วิธีการอื่นๆ เช่น การใช้ยาหรือการบำบัดทดแทนนิโคติน


ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดบุหรี่อยู่ในขณะนี้ ลองหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการเลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ และเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพหัวใจ และหลอดเลือดของคุณในระยะยาว อย่ามองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะมันอาจส่งผลเสียต่อชีวิตคุณโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

 


วิธีการเลิกบุหรี่

การเลิกบุหรี่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความพยายามและอาจต้องการการสนับสนุนจากหลายด้าน ต่อไปนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเลิกบุหรี่

   1. กำหนดวันที่จะเลิกสูบ : การกำหนดวันที่แน่นอนจะช่วยให้คุณเตรียมตัวทั้งทางกายและจิตใจสำหรับการเลิกบุหรี่

   2. ใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนิโคติน : เช่น แผ่นแปะนิโคติน, หมากฝรั่งนิโคติน, หรือยานิโคตินแบบพ่น ซึ่งช่วยลดความอยากสูบบุหรี่และช่วยลดอาการถอนนิโคติน

   3. เข้าร่วมโปรแกรมเลิกบุหรี่ : การเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนหรือโปรแกรมที่เน้นการเลิกบุหรี่สามารถให้ความรู้ และการสนับสนุนจากผู้ที่มีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน

   4. พบนักจิตวิทยาหรือผู้ให้คำปรึกษา: บางครั้งการเลิกบุหรี่อาจต้องการการสนับสนุนด้านจิตใจ เช่น การบำบัดทางพฤติกรรมหรือการใช้เทคนิคการผ่อนคลาย

   5. ยาที่ช่วยเลิกบุหรี่ : ยาบางชนิด เช่น วาเรนิคลิน (Varenicline) หรือบูโพรพิออน (Bupropion) สามารถช่วยลดความอยากบุหรี่และทำให้การเลิกบุหรี่ง่ายขึ้น โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

   6. ปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน : หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้คุณอยากสูบบุหรี่ เช่น หลังอาหารหรือขณะดื่มกาแฟ และหาอะไรทำเพื่อหันเหความสนใจ เช่น การออกกำลังกายหรือการดื่มน้ำ

   7. ขอการสนับสนุนจากคนใกล้ชิด : การบอกคนรอบตัวว่าคุณกำลังพยายามเลิกบุหรี่จะช่วยให้คุณได้รับการสนับสนุน และกำลังใจ

   8. พิจารณาผลดีต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ : การนึกถึงประโยชน์ต่อสุขภาพและเงินที่คุณจะประหยัดได้จากการไม่สูบบุหรี่ เป็นแรงจูงใจที่สำคัญ การเลิกบุหรี่อาจไม่สำเร็จในครั้งแรกที่พยายาม แต่ความพยายามที่สม่ำเสมอจะเพิ่มโอกาสในการเลิกบุหรี่ได้สำเร็จในระยะยาว ดังนั้นการการงด ลด หรือเลิกบุหรี่ จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ยังช่วยลดโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อีกด้วย มาการงด ลด หรือเลิกบุหรี่ เพื่อสุขภาพแข็งแรงกันนะคะ

สอบถามข้อมูล | นัดชมสถานที่

สาขาลาดพร้าว 71

สาขาสุขุมวิท 107

สาขาพัทยา

สาขาราชพฤกษ์

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab