สาเหตุและปัจจัยในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
สาเหตุและปัจจัยในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

    Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่ทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้ขัดขวางการลำเลียงเลือดซึ่งนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

     โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke, Cerebrovascular disease) เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่พบบ่อย เป็น สาเหตุของการเสียชีวิตอันดับสอง รองจากโรคมะเร็ง และยังทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ มีแนวโน้มการเกิดโรคสูงขึ้น พบได้ทุกเพศ ทุกวัย โรคหลอดเลือดสมอง มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง และทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทอย่างเฉียบพลัน เช่น แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีกของร่างกายทันทีทันทันใด พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจคำพูดทันทีทันใด กลืนลำบาก ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน หรือมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินลำบาก โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองประกอบด้วยปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ ดังนี้
    
    

    ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้

  1. ความดันโลหิตสูง คือ ความดันตั้งแต่ 140/90 mmHg ขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มากกว่าคนที่ไม่เป็นประมาณ 4-6 เท่า โดยความดันโลหิตสูงทำให้ผนังหลอดเลือดแดงด้านในเสื่อมเร็ว ขาดความยืดหยุ่นและเปราะแตกง่าย
  2. เบาหวาน ผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าของคนที่ไม่เป็น เนื่องจากผู้ที่เป็นเบาหวานมักจะมีความดันโลหิตสูงร่วมกับอ้วนหรือน้ำหนักตัวมากซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ นอกจากนี้โรคเบาหวานยังทำให้หลอดเลือดฝอยอุดตัน ทำให้สมองขาดเลือดได้ง่าย
  3. ไขมันในเลือดสูง ปกติ Cholesterol ในร่างกายไม่ควรเกิน 200 mg% และระดับไขมันชนิดดีหรือ HDL ควรมากกว่า 45 mg% ส่วนไขมันชนิดไม่ดีหรือ LDL ควรน้อยกว่า 100 mg% เนื่องจากไขมันในเลือดที่สูงจะไปเกาะหรืออุดตามหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงไม่ยืดหยุ่นเกิดการตีบตันง่าย เลือดจะไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆได้น้อย ถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะทำให้สมองขาดเลือดและเป็นอัมพาตในที่สุด วิธีลดไขมันชนิดไม่ดีและเพิ่มไขมันชนิดดีทำได้โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอและการรับประทานอาหารที่มีไขมันลดลง เพิ่มผักและผลไม้มากขึ้น
  4. ความอ้วน คนที่มีน้ำหนักตัวมาก จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ง่าย โดยเฉพาะคนอ้วนแบบลงพุง มีโอกาสเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูง ดังนั้นควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติคือ ดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ควรเกิน 23kg/m2 และรอบเอวไม่ควรเกิน 32 นิ้วในผู้หญิง หรือ 36 นิ้วในผู้ชาย
  5. โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น เนื่องจากลิ่มเลือดที่อยู่ในห้องหัวใจและตามตำแหน่งต่าง ๆของหัวใจอาจหลุดเข้าไปในหลอดเลือดสมองทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันได้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตัน 5 เท่าของคนที่ไม่เป็น
  6. ระดับ Homocysteine ในเลือดสูง Homocysteine เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในกระแสเลือด ค่าปกติ 5-15 micromoles/liter เนื่องจาก Homocysteine จะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงชั้นในหนาตัวขึ้น (Atherosclerosis) การป้องกันไม่ให้ระดับ Homocysteine สูงทำได้โดยให้รับประทานอาหารที่มี Folic acid หรือรับประทานวิตามินบี 6 หรือ บี 12 เสริม
  7. บุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนนอกไซด์ในบุหรี่จะทำลายหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ที่ไม่สูบประมาณ 2 เท่า
  8. แอลกอฮอล์ การดื่มสุราจะทำให้หลอดเลือดเปราะหรือเลือดออกง่าย กระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและทำให้ผนังหัวใจห้องล่างผิดปกติ นำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูง และทำให้เลือดแข็งตัวผิดปกติลดการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง
  9. สารเสพติด อาทิ โคเคน แอมเฟตามีน และเฮโรอีน เป็นสาเหตุของสมองขาดเลือดและเลือดออกในสมอง โดยการกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เกร็ดเลือดทำงานมากขึ้น เพิ่มความดันโลหิต ชีพจรเร็ว อุณหภูมิสูงขึ้นและเพิ่มการเผาผลาญในร่างกาย
  10. การดำเนินชีวิต ผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะหรือขาดการออกกำลังกายจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มากกว่าผู้ที่ทำงานที่ใช้แรงและผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้ที่ชอบรับประทานประเภททอดหรือไขมันมากมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ที่รับประทานอาหารพวกปลา ผักใบเขียวและผลไม้
  11. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ได้รับฮอร์โมนทดแทน ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ภาวะเลือดหนืดข้น
 
   
    ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้
  1. อายุที่มากขึ้น จะมีความสัมพันธ์ต่อการเสื่อมของหลอดเลือดสมอง เช่น คนที่อายุเกิน 55 ปี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และคนอายุ 65 ปีขึ้นไปพบมากเป็น 3 เท่าของคนที่อายุน้อย
  2. เพศชายเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเพศหญิง แต่สำหรับผู้หญิงที่มีประวัติใช้ยาคุมกำเนิดจะมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้ว เพศหญิงมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าเพศชาย
  3. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นอัมพาต จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนทั่วไป
  4. เชื้อชาติ คนผิวดำ (African American) เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มากกว่าคนผิวขาว (Caucasians) 2.5 เท่า สันนิษฐานว่า คนผิวดำอ้วน เป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูงมากกว่าคนผิวขาวจึงมีโอกาสเกิดโรคง่ายกว่า
  5. ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ผู้ที่มีประวัติอัมพาต-อัมพฤกษ์ชั่วคราว (TIA) มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้น 10 เท่า การรับประทานยาป้องกันเกล็ดเลือดจับกลุ่มกันสามารถช่วยป้องกันโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
 
หากระบบประสาทเกิดการผิดปกติ จนเกิดเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคลมชัก และโรคพาร์กินสัน กำลังรักษาอยู่ หรือหาที่ฟื้นฟู สามารถติดต่อสอบถามเราได้ที่

สนใจกระตุ้นระบบประสาทและสมอง ด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า TMS และ PMS

ติดต่อได้ที่

 

 
 

KIN - Rehabilitation & Homecare 
สาขา ลาดพร้าว 71

เลขที่ 6 ซอยนาคนิวาส 18 (ลาดพร้าว 71)

เวลาทำการ  ทุกวัน 09.00 – 18.00 น.

 : KIN - Rehabilitation & Homecare
 แผนที่ : https://bit.ly/2VvPDq6

KIN Origin Healthcare Wellness Center
สาขา สุขุมวิท 107

596 หมู่ 7 ซอยแบริ่ง 10 ถนนแบริ่ง 107
สำโรงเหนือ เมืองสมุทรปราการ 

เวลาทำการ  ทุกวัน 09.00 – 18.00 น.

 : Kin Origin Sukhumvit 107
 แผนที่ : https://shorturl.asia/KxzBk


ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab