ใช้เมาส์บ่อยๆ ระวังปวดข้อมือ

คลิ๊ก คลิ๊ก คลิ๊ก ใช้เมาส์บ่อย ๆ ระวังปวดข้อมือ!!

 

‘De Quervain’ คืออะไร แค่ชื่อก็งงแล้ว...

ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร อาจจะเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานออฟฟิศ เป็นแม่บ้าน หรือเป็นคุณแม่มือใหม่ที่ต้องอุ้มเจ้าตัวน้อยทั้งวันทั้งคืน ต่างก็ต้องใช้ข้อมือเยอะจนแทบไม่ได้พัก วันนี้เราจะมาพูดคุยกันในเรื่องโครงสร้างเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อย่างปลอกหุ้มเส้นเอ็นและเส้นเอ็นข้อมือ โดยโรคที่จะกล่าวถึงนี้มีชื่อว่า ‘De Quervain’ หรือ เดอ-กา-แวง ซึ่งเป็นการบาดเจ็บอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ข้อมือเยอะนั่นเอง

 

โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s disease)

คือ โรคที่เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นและเส้นเอ็นข้อมือบริเวณโคนนิ้วโป้ง โดยสาเหตุเกิดจากการใช้งานข้อมือมากเกินไป หรือมีการใช้งานข้อมือในลักษณะเดิมซ้ำ ๆ  เช่น การใช้เมาส์หรือพิมพ์งาน, การเขียนหนังสือ เป็นต้น ทำให้มีอาการปวดข้อมือด้านนอกบริเวณโคนนิ้วโป้ง

 

อาการของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s disease)

  • มีอาการปวดข้อมือด้านนอกบริเวณโคนนิ้วโป้ง อาจมีอาการปวดร้าวจากข้อมือไปที่แขนร่วมด้วย
  • มีอาการปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวนิ้วโป้งหรือใช้มือ โดยเฉพาะท่าบิดข้อมือ หรือยกของหนัก
  • มีอาการบวมอักเสบบริเวณโคนนิ้วโป้ง
  • รู้สึกเจ็บเมื่อกดบริเวณเอ็นข้อมือถัดลงมาจากโคนนิ้วโป้ง

บุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s disease)

  • ผู้ที่ประกอบอาชีพ หรือทำกิจกรรมที่มีการใช้งานมือเยอะ เช่น พนักงานออฟฟิศที่ใช้คอมพิวเตอร์, แม่บ้าน, นักกีฬา เป็นต้น
  • พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์
  • พบบ่อยในช่วงอายุ 30-50 ปี
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid)

การรักษาสำหรับโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s disease)

 1. การรักษาแบบประคับประคอง (Conservative treatment)
    • การพักการใช้งานข้อมือข้างที่ปวด
    • การใส่อุปกรณ์พยุงข้อมือ (Thumb spica splint)
    • การทำกายภาพบำบัด เช่น การใช้เครื่องอัลตราซาวน์, เลเซอร์ เพื่อลดอาการปวดและอักเสบ เป็นต้น
    • การรับประทานยาบรรเทาอักเสบ กลุ่ม NSAIDs
    • หากมีอาการมาก แพทย์อาจจะพิจารณารักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์
2. การผ่าตัด โดยผ่าตัดขยายปลอกหุ้มเอ็นเพื่อลดการกดทับ ใช้ในกรณีที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น

 

วิธียืดกล้ามเนื้อด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ

1. ท่ายืดกล้ามเนื้อนิ้วโป้ง

ท่าเริ่มต้น: เหยียดศอกตรง กำมือโดยเก็บนิ้วโป้งไว้ด้านใน

ท่าออกกำลังกาย: ค่อย ๆ กระดกข้อมือลงด้านล่าง (ฝั่งนิ้วก้อย) จนรู้สึกตึงบริเวณโคนนิ้วโป้ง ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้งต่อเซ็ต 2-3 เซ็ตต่อวัน ดังรูป

 

ท่ายืดกล้ามเนื้อนิ้วโป้ง

2. ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนส่วนปลายด้านหน้า

ท่าเริ่มต้น: เหยียดศอกตรง หงายมือขึ้น

ท่าออกกำลังกาย: ค่อย ๆ กระดกข้อมือลงด้านล่าง จนรู้สึกตึงบริเวณแขนส่วนปลายด้านหน้า ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้งต่อเซ็ต 2-3 เซ็ตต่อวัน ดังรูป

 

ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนส่วนปลายด้านหน้า

3. ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนส่วนปลายด้านหลัง

ท่าเริ่มต้น: เหยียดศอกตรง กำมือและคว่ำมือลง

ท่าออกกำลังกาย: ค่อย ๆ กระดกข้อมือลงด้านล่าง จนรู้สึกตึงบริเวณแขนส่วนปลายด้านหลัง ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้งต่อเซ็ต 2-3 เซ็ตต่อวัน ดังรูป

 

ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนส่วนปลายด้านหลัง

**ในกรณีที่ออกกำลังกายด้วยตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดมากกว่าเดิม ควรรีบมาพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อตรวจประเมินเพิ่มเติม และพิจารณาให้การรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม**

 

ข้อมูล : กภ.จิรัชญา ขวัญศรี

KIN - Rehabilitation & Homecare 
สาขา ลาดพร้าว 71

เลขที่ 6 ซอยนาคนิวาส 18 (ลาดพร้าว 71)

เวลาทำการ  ทุกวัน 09.00 – 18.00 น.

 : KIN - Rehabilitation & Homecare
 แผนที่ : https://bit.ly/2VvPDq6

KIN Origin Healthcare Wellness Center
สาขา สุขุมวิท 107

596 หมู่ 7 ซอยแบริ่ง 10 ถนนแบริ่ง 107
สำโรงเหนือ เมืองสมุทรปราการ 

เวลาทำการ  ทุกวัน 09.00 – 18.00 น.

 : Kin Origin Sukhumvit 107
 แผนที่ : https://shorturl.asia/KxzBk


ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab