ปวดเข่าด้านใน โรคสำคัญที่นักกีฬาควรรู้ (Pes anserine bursitis)
นั่งก็โอย ลุกก็โอย อาการปวดแปลบๆของเข่าด้านใน ที่อาจไม่ใช่จากโรคข้อเข่าเสื่อม แต่เป็น Pes anserine bursitis หรือถุงน้ำเข่าด้านในอักเสบ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการบาดเจ็บของข้อเข่าที่พบได้มาก โดยเฉพาะในนักกีฬาที่มีการใช้งานเข่าในลักษณะซ้ำๆ
Pes anserine bursitis หรือถุงน้ำเข่าด้านในอักเสบ เกิดจากแรงเสียดสีและความตึงเครียดของถุงน้ำ (bursa) ที่อยู่ระหว่างกระดูกหน้าแข้งและเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อขา จนนำไปสู่การอักเสบของถุงน้ำ โดยมักพบอาการปวดและบวมที่บริเวณเข่าด้านใน ใกล้กับส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง ที่เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อขาทั้ง 3 มัด (pes anserine) ได้แก่ กล้ามเนื้อ sartorius, gracilis และ semitendinosus ทั้ง 3 มัดเป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเริ่มต้นของการงอเข่าและหมุนขาเข้าด้านใน ดังนั้นเมื่อมีการใช้งานซ้ำๆ จึงทำให้มีอาการอักเสบของถุงน้ำเข่าถัดมา พบได้มากในนักกีฬา และผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ หรือแรงกระแทกบริเวณข้อเข่าด้านใน
สาเหตุของการเกิด Pes anserine bursitis
- การใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก และต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีแรงเสียดสีของถุงน้ำเข่าด้านในที่เพิ่มมากขึ้น เช่น นักกีฬา เป็นต้น
-
ได้รับอุบัติเหตุโดยตรง หรือได้รับแรงกระแทกบริเวณถุงน้ำเข่าด้านใน
- ผู้ป่วยที่มีภาวะของโรคข้อเข่าเสื่อมอยู่แล้ว หรือในผู้ที่มีภาวะเข่าบิดเข้าด้านใน (genu valgum)
- ภาวะอ้วน เนื่องจากทำให้กล้ามเนื้อมีการกดเบียด และเสียดสีถุงน้ำเข่าได้มากกว่า จนทำให้เกิดอาการอักเสบ
อาการของ Pes anserine bursitis
- ปวดเข่าด้านใน ต่ำกว่าแนวข้อเข่าประมาณ 2 นิ้ว ในบางราย พบอาการแดง ร้อนบริเวณเข่าด้านในร่วมด้วย
- อาการปวดจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย ไม่เกิดขึ้นฉับพลัน
- ปวดขณะงอ เหยียดเข่า และขณะเดินบนพื้นผิวเรียบ ปวดมากขึ้นเมื่อขึ้นลงบันได หรือเปลี่ยนท่าทางจากท่านั่งเป็นท่ายืน
- ในบางรายอาจพบองศาการเคลื่อนไหวของเข่าลดลง หรือมีรูปแบบการเดินที่เปลี่ยนไปจากปกติได้ เนื่องจากมีอาการเจ็บเข่าด้านในที่มากขึ้น จึงส่งผลทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแรงลง
- ให้แรงกดบริเวณใต้ข้อเข่าด้านในจะมีอาการเจ็บ
แนวทางการรักษา Pes anserine bursitis
1. ประคบเย็น และพักการใช้งาน ในช่วงแรกของการบาดเจ็บจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน จึงจำเป็นต้องพักการใช้ขา ต่อด้วยการประคบเย็นเพื่อลดอาการปวด และลดการอักเสบ
2. การทานยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ และชนิดที่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โดยต้องปรึกษาเภสัชกรก่อนทานยา
3. การผ่าตัด มักทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง หรือรักษาด้วยวิธีประคับประคองไม่ได้ผล
4. การรักษาทางกายภาพบำบัด เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน ซึ่งการรักษาทางกายภาพประกอบไปด้วย การใช้คลื่อนอัลตร้าซาวด์เพื่อลดอาการปวด เร่งกระบวนการซ่อมแซมภายในเนื้อเยื่อ การออกกำลังกายเพิ่มเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และความยืดหยุ่นของข้อเข่า เป็นต้น
ข้อมูล : กภ.พรนภัส เรือนทองดี
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
LINE สอบถามรายละเอียด @kinrehab (มี @ ข้างหน้า) หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id