โรคกระดูกสันหลังคด สาเหตุและวิธีรักษา

โรคกระดูกสันหลังคด สาเหตุและวิธีรักษา

โรคกระดูกสันหลังคด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุหรือเรียกว่า Idiopathic scoliosis ผู้ป่วยบางคนอาจมีพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามช่วงอายุที่มีอาการเกิดขึ้น

  • โรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยทารก (Infantile idiopathic scoliosis) เด็กที่เกิดอาการโรคกระดูกสันหลังคดก่อนอายุ 3 ขวบ
  • โรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยเด็ก (Juvenile idiopathic scoliosis (JIS)) เด็กพัฒนาอาการของโรคเมื่อมีอายุระหว่าง 4 – 10 ขวบ
  • โรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยรุ่น (Adolescent idiopathic scoliosis (AIS)) ช่วงเด็กกำลังเติบโตเป็นวัยรุ่นหรือมีอายุระหว่าง 10 – 18 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบโรคกระดูกสันหลังคดได้มากที่สุด

นอกจากนี้โรคกระดูกสันหลังคดยังอาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด (Congenital scoliosis) โดยอาจเกิดได้จากความบกพร่องในการสร้างของกระดูกไขสันหลัง
  • กระดูกสันหลังคดจากท่าทางที่ผิด (Functional scoliosis) อาจเกิดจากความผิดปกติตรงส่วนอื่นของร่างกาย เช่น การบาดเจ็บ ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อหดเกร็ง การทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายไม่สมดุลซ้ำ ๆ กันเป็นเวลาหลายปี 
  • กระดูกสันหลังคดจากโรคประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular scoliosis) พบในเด็กที่มีความผิดปกติของไขสันหลัง สมองและระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทไม่สามารถรักษาสมดุลของลำตัวและกระดูกสันหลังได้โรคกระดูกสันหลังคดชนิดนี้มักรุนแรงมากขึ้นเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ 
  • กระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative lumbar scoliosis) เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลังจากการใช้งานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน

อาการของโรคกระดูกสันหลังคด

  • ไหล่ไม่เท่ากัน
  • กระดูกสะบักนูนไม่เท่ากัน
  • เอวไม่เสมอกัน
  • สะโพกสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน 

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้น กระดูกสันหลังนอกจากจะโค้งไปทางด้านใดด้านหนึ่งแล้ว ยังอาจหมุนหรือบิดตัว ทำให้ซี่โครงด้านหนึ่งยื่นออกมามากกว่าอีกด้านหนึ่ง เห็นเป็นก้อนนูนทางด้านหลังได้

ความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกสันหลังคด

ความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกสันหลังประเภทที่พบได้บ่อยมีดังต่อไปนี้

  • อายุ สัญญาณและอาการของโรคกระดูกสันหลังคดมักเกิดขึ้นในช่วงเด็กกำลังเติบโตก่อนเข้าวัยรุ่น
  • เพศ เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคกระดูกสันหลังคดได้เท่า ๆ กัน แต่เด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะมีอาการของโรคที่รุนแรงมากกว่า
  • ประวัติครอบครัว โรคกระดูกสันหลังคดอาจเกิดจากพันธุกรรมได้ แต่เด็กส่วนใหญ่ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ 

 

อาการแทรกซ้อนจากโรคกระดูกสันหลังคด

ถึงแม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก แต่อาจมีอาการแทรกซ้อนจากโรคกระดูกสันหลังคดได้ เช่น

  • ปอดและหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่    เกิดเฉพาะในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังคดรุนแรง กระดูกสันหลังผิดรูปมาก กระดูกซี่โครงอาจผิดรูปตามไปด้วย ทำให้ปอดและหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • ปัญหาเกี่ยวกับหลัง ผู้ใหญ่ที่มีปัญหากระดูกสันหลังคดตั้งแต่เด็กมีแนวโน้มว่าจะมีอาการปวดหลังเรื้อรังมากกว่าคนปกติทั่วไป
  • ปัญหาเกี่ยวกับรูปลักษณ์ เมื่ออาการของโรคแย่ลง สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าไหล่และสะโพกไม่เท่ากัน ซี่โครงยื่นออกมาผิดปกติ เอวและลำตัวเบี้ยว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเอง

วิธีรักษาโรคกระดูกสันหลังคด

การรักษาทำได้หลายวิธีซึ่งขึ้นอยู่กับผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ผู้ชำนาญการ โดยทั่วไปทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

การรักษาด้วยตัวเอง

  • การออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสม
  • การใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อมีอาการ
  • การรักษาทางกายภาพบำบัด
  • การสอนการจัดท่าในการใช้ชีวิตประจำวัน การนั่ง การนอน การทรงตัว
  • การฝึกการหายใจให้ถูกต้องเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด
  • การออกกำลังกายด้วยวิธีีเฉพาะที่เหมาะสมเพื่อช่วยรักษาให้กระดูกสันหลังกลับเข้าสู่แนวเดิม หรือให้ใกล้เคียงแนวปกติให้มากที่สุด การรักษาจะจำเพาะแตกต่าง กันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน และการให้การรักษานี้ควรเป็นนักกายภาพบำบัดที่ได้รับการอบรมเฉพาะทางเกี่ยว กับโรคกระดูกสันหลังคด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด
การรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์
  • การใส่เสื้อเกราะดัดหลัง เหมาะสมกับผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังยังคงมีการเจริญเติบโตเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูดคดงอยิ่งขึ้น โดยอาจให้ผู้ป่วยใส่ตลอดเวลา ยกเว้นเวลาออกกำลังหรืออาบน้ำ หรือใส่เฉพาะเวลานอน มักใช้กับผู้ป่วยเด็กที่มีความคดอยู่ระหว่าง 25 – 40 องศา ในบางกรณี สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่พบสาเหตุ กระดูกสันหลังอาจคดเพิ่มขึ้นถึง 45 – 50 องศาถึงแม้จะใส่เสื้อเกราะดัดหลังแล้วก็ตาม ในกรณีนี้แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด
  • การผ่าตัด  แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าตัด หากการรักษาด้วยวิธีการอื่นไม่ได้ช่วยชะลอความรุนแรงของโรค หรือผู้ป่วยมาพบแพทย์เมื่อมีกระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรงตั้งแต่แรก และผู้ป่วยมีอาการปวดอย่างรุนแรงหรือโรคกระดูกสันหลังคดมีผลกระทบต่อระบบประสาท
 
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่ม นัดหมายเข้ามาดูสถานที่ ติดต่อ
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
 
 โทร 095-884-2233 , 091-803-3071 , 02-020-1171
line LINE@ สอบถามรายละเอียด @kinrehab (มี @ ข้างหน้า) หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id
 Youtube Channel : https://cutt.ly/TyTh3bd
 แผนที่ไป KIN : http://bit.ly/2VvPDq6

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab