ดูแลและฟื้นฟู "ผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกและข้อ" อย่างไรดี?

ดูแล ฟื้นฟู ผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกและข้ออย่างไรดี ?

 

การดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยหลังผ่าตัด

การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหลังการผ่าตัดมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด สร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ และช่วยให้คนไข้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ด้วยลักษณะท่าทางที่ถูกต้อง เหมาะสม การผ่าตัดกระดูกและข้อส่วนใหญ่จะส่งผลให้ผู้ป่วยยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดีในช่วงแรก บางรายหากมีการใส่อุปกรณ์เทียมตามข้อในร่างกาย จึงต้องมีความระมัดระวังในการเปลี่ยนอิริยาบถของการทำกิจกรรมต่าง ๆ

การฟื้นฟูดูแลกรณีการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

วันที่ 1-2 หลังผ่าตัด

  • ฝึกการหายใจเข้าออกลึกๆ ประมาณ 10 ครั้ง ไอให้เสมหะออกทุกครั้ง ทำทุก 2 ชม.
  • หลังผ่าตัดภายใน 2 วัน ออกกำลังข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง กระดกข้อเท้าขึ้นลง หมุนข้อเท้าเป็นวงกลม ทำท่าละ 10 ครั้ง เพื่อขยับข้อต่อ สร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่น ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

วันที่ 2-3 หลังผ่าตัด

  • ออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นขา นอนราบเกร็งกล้ามเนื้อเข่า และกดเข่าลงบนที่นอนให้มากที่สุด กระดกข้อเท้าขึ้น นับ1-10 จึงปล่อยกล้ามเนื้อคลายตัว ทำวันละ 3 เซท เซทละ 15-20 ครั้ง
  • ออกกำลังกายแขนทั้ง 2 ข้าง ยกหมอนทรายเบาๆ 5-1 กิโลกรัม ขึ้นลงสลับ 2 ข้าง ช้าๆ

วันที่ 4-5 หลังผ่าตัดออกกำลังกายหลัง

  • นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง แขนแนบลำตัว เกร็งกล้ามเนื้อท้อง กดหลังกับพื้นเตียง เกร็งนาน 5 วินาที พัก และทำติดต่อกัน 10 ครั้ง
  • นอนหงายชันเข่าทั้ง 2 ข้าง งอสะโพก และข้อเข่า แขนแนบลำตัว ยกศีรษะและลำตัวช่วงบน เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องค้างไว้ 5 วินาที ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง
  • ให้นอนหงายชันเข่าสองข้าง ใช้มือจับเข่างอ เข่าจรด-อกทำแค่ที่ทนได้แล้วปล่อย สลับทำทีละข้าง ข้างละประมาณ 10 ครั้ง โดยการออกกำลังกายแต่ละท่านั้นขึ้นอยู่กับชนิด และวิธีการผ่าตัดด้วย ดังนั้น ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่าตัด แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือนักกายภาพบำบัดก่อน

การลุกนั่ง ยืน เดิน ควรทำในท่าทางลักษณะที่ถูกต้อง เช่น เริ่มจากนั่ง 30-45 องศา ไปจนถึงนั่งตรง 90 องศา ในการผ่าตัดบางประเภทอาจต้องใช้อุปกรณ์พยุงหลังร่วมด้วยขณะนั่ง ยืน  หรือเดิน หรือในผู้ป่วยที่อายุมากอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเข็นร่วมด้วยในช่วงแรก

ภายหลังกลับบ้านควร

  • ควบคุมน้ำหนักอย่าให้เกินเกณฑ์
  • ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อหลัง
  • ใช้ท่าทางให้ถูกลักษณะ ทั้งการนั่ง การเดิน การยืน การก้ม เงย
  • ควรงดทำงานหนักในช่วงแรก
  • เมื่อมีอาการผิดปกติควรมาพบแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การฟื้นฟูดูแลผู้ป่วยผ่าตัดข้อสะโพกเทียม
นักกายภาพบำบัดจะให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการหลุดของข้อ โดยส่วนใหญ่การผ่าตัดเข้าทางด้านหลังหรือด้านข้าง ให้หลีกเลี่ยงการงอสะโพกมากกว่า 90 องศา การหุบสะโพก และการหมุนสะโพกข้ามแนวกลางลำตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัด

  • ห้ามนอนไขว้ขา ห้ามนอนตะแคง โดยไม่มีหมอนสอดระหว่างขา
  • ห้ามนั่งไขว้ขา หรือไขว่ห้าง
  • ห้ามก้มหลังเพื่อหยิบของ
  • ห้ามเอี้ยวตัวไปด้านหลัง ต้องใช้วิธีหมุนทั้งตัวเพื่อกลับไป
  • ฝึกการหายใจ เริ่มออกกำลังกายกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อสะโพกในท่านอน แบบไม่ขยับข้อที่เรียกว่า ไอโซเมตริก (Isometric Exercise)
  • การฝึกเตรียมกำลังแขน ขาทั้ง 2 ข้าง โดยได้รับคำปรึกษาจากทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด
  • ฝึกเดินโดยใช้อุปกรณ์ช่วยในการลงน้ำหนัก ให้เหมาะสมกับวิธีการผ่าตัดนั้น ๆ

การฟื้นฟู ดูแลผู้ป่วยกระดูกหักและข้อเคลื่อน

  • ยกอวัยวะส่วนที่มีการหักให้สูงขึ้น เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดดำกลับเข้าสู่หัวใจได้ดีขึ้น
  • เคลื่อนไหวส่วนของร่างกายที่ปกติ ช่วยลดอาการบวม
  • ออกกำลังกายข้อที่ปกติ เพื่อป้องกันข้อติด
  • การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • ฝึกเดินโดยใช้เครื่องช่วยเดินที่เหมาะสม ในระยะแรกจะต้องหัดเดินโดยไม่ลงน้ำหนักแขน หรือขาส่วนที่หัก ใช้ไม้ค้ำยัน หรือเครื่องช่วยเดินที่เหมาะสมของกระดูกหักแต่ละประเภท การฝึกเดินจนกว่ากระดูกจะเริ่มติดกันจึงค่อยลงน้ำหนักเพิ่มขึ้น

 

สอบถามข้อมูลการฟื้นฟู
และนัดดูสถานที่

 

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูคิน

สาขา รพ.ประสานมิตร ถนนพหลโยธิน (รับเฉพาะผู้ป่วยนอก)
 โทร : 080-553-1991 , 081-632-8188
 LINE สอบถามรายละเอียด @KinPrasanmit (มี @ ข้างหน้า)
หรือ Click : https://lin.ee/UPfzPk7

KIN Origin Healthcare
สาขา Sukhumvit 107
 
สาขา Ramintra

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab