ปวดต้นคอ รักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด
อาการปวดต้นคอ (Neck pain) เป็นอาการที่จะรู้สึกปวดหรือเจ็บแปล๊บๆบริเวณต้นคอ ในปัจจุบันคนทั่วไปมีอาการปวดต้นคอเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่มักมีอาการปวด เป็นๆ หายๆ ซึ่งมีสาเหตุจากการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น ผู้ใช้งานก้มคอต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดปัญหาปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ และกล้ามเนื้อบริเวณบ่า และสาเหตุอีกอย่าง คือ ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ประชากรมีอายุเพิ่มมากขึ้น เกิดปัญหาของโรคข้อเสื่อมและหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเพิ่มขึ้น จึงทำให้พบปัญหาอาการปวดคอเพิ่มมากขึ้นโดยบางรายก็อาจรักษาแล้วก็กลับมาเป็นอีก บางรายรู้สึกปวดจนทรมานจนนอนไม่หลับ และ บางรายอาจมีอาการชาร้าวลงมือร่วมด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดความเจ็บปวด และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้
5 สาเหตุของการปวดต้นคอ
- มีการเกร็งของกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากการทำกิจกรรมหรือพฤติกรรมในการใช้งานกล้ามเนื้อคอที่ผิดท่าและนานเกินไป เช่น การนอนผิดท่าคอตกหมอน, การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานาน, คอกระตุกระหว่างออกกำลังกาย และการขับรถนาน เป็นต้น
- กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นผลจากอายุที่เพิ่มขึ้น และการใช้งานหนักในบางอาชีพการบาดเจ็บที่บริเวณคอ เช่น กระดูกคอหัก, หมอนรองกระดูกเคลื่อน, เอ็น และกล้ามเนื้อรอบข้อต่ออักเสบ
- การอักเสบในผู้ป่วยโรคข้อ เช่น โรครูมาตอยด์
- หมอนรองกระดูกต้นคอเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท เกิดอาการบวมและอักเสบของเส้นประสาท ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรงต่อเส้นประสาท จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดคอร้าวลงแขนเพิ่มมากขึ้น ในบางรายอาจจะมีอาการชา และอ่อนแรงของแขนในข้างที่เส้นประสาทไปกดทับด้วย
- กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม เป็นสาเหตุอาการปวดต้นคอในผู้สูงอายุ โดยไม่ปรากฏอาการ หากกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมอยู่ใกล้เส้นประสาทจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บลามไปตั้งแต่แขน เป็นเหน็บ และชาที่มือและขา
อาการปวดบริเวณต้นคอ
- มีอาการปวดเมื่อยๆ บริเวณกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ ปวดร้าวลงบริเวณบ่า และสะบัก บริเวณไหล่ และข้อศอก
- มีอาการชาลงไปที่มือ และนิ้ว อาจจะมีความรู้สึกปวดแปล๊บๆเหมือนไฟฟ้าช็อต วิ่งลงแขน
- หันศีรษะลำบาก ไม่สามารถหันได้เหมือนปกติ เวลาจะเหลียวมองด้านข้างต้องหันไปทั้งตัว
- มีอาการปวดเมื่อแหงนศีรษะ หรือก้มนานๆ
- มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยรากประสาทนั้นๆ เช่น ไม่มีแรงกำมือ หรือกระดกข้อมือ มีอาการปวดจากท้ายทอยขึ้นไปยังศีรษะ และอาจมีอาการปวดร้าวออกเบ้าตา
- มีอาการกล้ามเนื้อตึงหรือกระตุก
การรักษา
- การปรับเปลี่ยนท่าทาง และการใช้ชีวิตประจำวัน
- การทำกายภาพบำบัดด้วยการดึงคอ
- การรับประทานยาลดปวด ยาลดการอักเสบ
- การฉีดยาชาระงับปวดเข้าไประหว่างชั้นกล้ามเนื้อ
ขอขอบคุณข้อมูล : ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์