5 อาการบาดเจ็บที่พบบ่อยจากการเล่นกีฬา
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาสามารถเกิดได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการจ๊อกกิ้ง การเต้นแอโรบิก กิจกรรมเบา ๆ ในตอนเช้า ก็สามารถทำให้ปวดกล้ามเนื้อได้ถึงแม้จะยืดร่างกายแล้วก็ตาม ยิ่งกีฬาที่ใช้พละกำลังเยอะ และใช้เวลามาก เช่น กีฬาแบดมินตัน กีฬาเทนนิส กีฬาปิงปอง ฟุตบอล ฯลฯ ที่เป็นกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย ต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และมีการหยุดการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหัน อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือซ้อมเล่นกีฬาได้ยกตัวอย่างกีฬาที่สามารถเห็นภาพได้อย่างชัดเจน คือ การเล่นกีฬาแบดมินตัน และกีฬาเทนนิส กีฬา 2 ชนิดนี้จะเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยความคล่องแคล่วว่องไว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ แม้แต่การเล่นกีฬาเซิร์ฟสเก็ต ก็เช่นกัน ที่ต้องใช้หลักการทรงตัว การบิดตัว และการเหวี่ยงสะโพกในการเล่นอยู่ตลอดเวลา จึงมีการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดเดิม ซ้ำ ๆ อย่างหนัก จนอาจมีการปวดเมื่อยในส่วนต่างๆ ทั้งอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดก้น ปวดเมื่อยต้นขา ปวดสะบัก รวมทั้งข้อเข่า และข้อเท้าได้ ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น มักเกิดจากการล้ม การกระแทก สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ตั้งแต่อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ แผลถลอก เส้นเอ็นข้อเท้าอักเสบ เส้นเอ็นข้อเข่าอักเสบ เอ็นเข่าฉีดขาด หรือเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดได้ เพราะฉะนั้น ก่อนเล่นกีฬาทุกชนิด ทุกคนควรอบอุ่นร่างกายก่อนเล่นเสมอ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของหัวไหล่ ข้อศอก หัวเข่า ข้อเท้า และอันตรายต่างๆที่จะเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถเกิดการบาดเจ็บส่วนต่าง ๆ ได้ ซึ่งจากที่เราได้เห็นตัวอย่าง ไม่ว่าเรามีร่างกายที่แข็งแรง หรืออบอุ่นร่างกายก่อนเล่นอย่างสม่ำเสมอ อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาก็สามารถเป็นได้ แต่อาการจากการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬามีอะไรบ้างล่ะ วันนี้ KIN มี 5 อาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยมาฝากกัน
5 อันดับ การบาดเจ็บที่พบบ่อยจากการเล่นกีฬา คือ
- เอ็นไหล่บาดเจ็บ (Rotator cuff injury)
- เอ็นข้อศอกอักเสบ (Tennis elbow)
- เอ็นหัวเข่าอักเสบ (Patella tendonitis)
- เอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles tendonitis)
- ข้อเท้าแพลง (ankle sprain)
* เอ็นอักเสบ (Tendinitis) คือ การมีอาการเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อมักเกิดการบวมขึ้น ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อพังผืดที่ยืดหยุ่นได้ตามแนวกระดูก ที่คอยเชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูกไว้ด้วยกัน ช่วยในการเคลื่อนไหวของกระดูกและข้อต่อ สาเหตุที่เอ็นอักเสบมักเกิดจากการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลันผิดจังหวะ หรืออาจเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อเอ็นบริเวณเดิมเป็นเวลานานๆ จนทำให้เส้นเอ็นตึงขึ้น จนทำให้มีอาการปวดหรือเจ็บรอบ ๆ ข้อต่อ หากปล่อยให้เรื้อรังอาจทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหว จนกระทบต่อจิตใจ และสุขภาพในการดำเนินชีวิตได้
อาการของการบาดเจ็บจากเอ็นอักเสบ
อาการเอ็นอักเสบเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย โดยบริเวณที่เป็นบ่อย คือ หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า โดยมักจะมีอาการเจ็บ ปวดตื้อ ๆ เมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือใช้งานกล้ามเนื้อที่มีเอ็นอักเสบ อาการอักเสบมักจะปวด ร้อน บวม แดง ของเอ็นที่อักเสบ โดยอาการของเอ็นอักเสบส่วนใหญ่จะดีขึ้นใน 2-3 วันจากการพักการใช้งานเอ็น และกล้ามเนื้อมัดนั้น แต่หากผ่านไป 2-3 วัน อาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงควรไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษา
วิธีการรักษา
1. การรักษาโดยศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นวิธีการรักษาโดยใช้การออกกำลังกายในท่าทางที่ถูกต้อง เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และความแข็งแรงของเอ็นกล้ามเนื้อที่อักเสบ
2. การรักษาโดยกายภาพบำบัด เป็นวิธีการรักษาโดยขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนโดยนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ประเมินอาการ และวางแผนในการรักษาให้ เช่น ประคบเย็น, ประคบร้อน, กายภาพบำบัดด้วยมือ, อัลตราซาวด์, การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เป็นต้น
3 .การรักษาด้วยยาชนิดรับประทาน เช่น แอสไพริน (Aspirin) นาพรอกเซน (Naproxen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาอื่น ๆ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดที่เกิดจากการอักเสบได้
4. การรักษาด้วยยาฉีด โดยการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) รอบ ๆ บริเวณเอ็นที่มีการอักเสบ เพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการเจ็บ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ฉีดยานี้ซ้ำ ๆ ในกรณีที่มีการอักเสบเกิน 3 เดือน เนื่องจากอาจทำให้เอ็นกล้ามเนื้ออ่อนแอ เสี่ยงต่อการฉีกขาดได้
ขอขอบคุณข้อมูล : Pobpad