พนักงานออฟฟิศ ถือว่ากลุ่มคนที่ต้องทำงานในที่เดิมๆซ้ำๆเป็นเวลานาน และอาจทำให้เกิดการทำงานของกล้ามเนื้อในท่าทางซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนเกิดอาการ ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่
เรามาทำความรู้จักกับโรคออฟฟิศซินโดรม และรู้วิธีนั่งทำงานอย่างถูกต้องกัน
โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)
โรคออฟฟิศซินโดรม ไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถรักษาหายได้ ซึ่งโรคนี้จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ นานๆ ซึ่งจะพบส่วนใหญ่ได้ในพนักงานออฟฟิศ คนออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งนักกีฬา แต่ในสถานการณ์ในปัจจุบันในคนอายุน้อยๆ เช่นนักเรียน และนักศึกษา หรือคุณครู ที่มีการเรียนการสอนผ่าน Online ทำให้มีการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรืออยู่กับหน้าจอโทรศัพท์เป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ และมีอาการชาร่วมด้วย
โดยอาการออฟฟิศซินโดรมสามารถเป็นได้ง่ายและสามารถป้องกันได้ง่ายเช่นกัน เพียงแค่ปรับเปลี่ยนวิธีการนั่งที่ถูกต้องและการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง เป็นอย่างไร ?
การที่เรานั่งผิดท่า เป็นระยะเวลายาวนานในแต่ละวัน อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรา มีอาการปวดหลัง เกิดอาการเมื่อยล้าได้โดยที่ไม่รู้ตัว เช่น ท่านั่งผิดๆ ดังต่อไปนี้
- ท่านั่ง เราเอนพิงพนักโดยเว้นช่องว่างระหว่างสะโพกกับพนักพิง ทำให้ส่งผลต่อกระดูกสันหลังช่วงล่างงอเป็นทรงโค้ง
- ท่านั่งที่มีลักษณะกายภาพ แบบ หลังค่อม นั่งห่อไหล่ ส่งผลให้เมื่อย เกร็ง บริเวณ กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก อยู่ตลอดเวลา
- การใช้งานคอมพิวเตอร์ ด้วยตำแหน่งการจับเม้าที่ท่าทางผิดธรรมชาติ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานๆ หรือการนั่งเล่นมือถือด้วยท่าเดิม ในระยะยาว อาจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาท เส้นเอ็นอักเสบ เกิดพังผืดยึด นิ้วล็อกหรือข้อมือล็อกได้
6 วิธีง่ายๆ เปลี่ยนพฤติกรรมขณะทำงาน
- ควรลุกขึ้นมายืดกล้ามเนื้อทุก 1 ชั่วโมง เพื่อพักสายตาและเพื่อพักกล้ามเนื้อ
- ระดับข้อศอกและข้อมือ ควรเป็นระนาบเดียวกันกับแป้นคีย์บอร์ด
- ระดับสายตาของเราต้องอยู่ในระดับที่พอดีกับจอภาพ ของอุปกรณ์นั้นๆ
- นั่งให้เต็มก้นและนั่งหลังตรง โดยให้หลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ การนั่งพิงพนักจะช่วยเรื่องการจัดระเบียบหลัง ช่วยให้หลังนั้นตรงโดยอัตโนมัติ ไปตามแนวของพนักพิง แต่หากเก้าอี้ไม่มีพนักพิงเราต้องพยายามฝึกให้นั่งหลังตรงอยู่เสมอๆ
- เก้าอี้ที่ดีควรปรับระดับความสูง-ต่ำได้ แต่หากปรับไม่ได้ ก็อาจจะต้องหาเก้าอี้ม้านั่งตัวเล็กวางไว้ด้านล่างเพื่อวางเท้า
- ควรพักสายตาจากหน้าจอทุก 30-40 นาที
ขอขอบคุณข้อมูล : harachairthailand