โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรคนี้
เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) พบได้ประมาณ 80%
- หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20%
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อม หนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมันและหินปูนมาเกาะ
- เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง
- ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
- ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง
- เบาหวาน จะทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หากเกิดที่สมองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
- ไขมันในเลือดสูง คือภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้กีดขวางการลำเลียงเลือด
- โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดสมอง
- การสูบบุหรี่ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 3.5%
- ยาคุมกำเนิด
- โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบและหลอดเลือดแข็ง
- การขาดการออกกำลังกาย
อาการและแนวทางการดำเนินโรค
เมื่อสมองขาดเลือดจะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาการแสดงต่าง ๆ จะมากหรือน้อยขึ้นกับระดับความรุนแรงและตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย เช่น
- ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าและ/หรือบริเวณแขนขาครึ่งซีกของร่างกาย
- พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะทันทีทันใด
- ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียวทันทีทันใด
- เดินเซ ทรงตัวลำบาก
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว (transient ischemic attack: TIA) อาจมีอาการเตือนเหล่านี้เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองจัดเป็นอาการร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือหากไม่ถึงชีวิต ก็อาจทำให้กลายเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองและต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพต่อไป
วิธีการรักษา
- การรักษาด้วยตัวเอง
ออกกำลังกายและฝึกตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด ทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ทำกิจกรรมคลายเครียด เช่น ฟังเพลง นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ไปเที่ยว เป็นต้น
- การรักษาทางกายภาพบำบัด
- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- เพิ่มความยืดหยุ่น ลดภาวะเกร็ง
- ฝึกการประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อและข้อต่อ (coordination)
- ฝึกการทรงตัว
- ฝึกการเดิน
- ฝึกการใช้มือ
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ข้อติด แผลกดทับ การเกร็ง ปอดติดเชื้อ ภาวะความดันต่ำจากการเปลี่ยนท่าทาง กระดูกพรุน เป็นต้น
การป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีกของโรคนี้
- ควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดเกิดการตีบ อุดตัน หรือแตก เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
- ตรวจเช็กสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ต้องรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษาของแพทย์ ห้ามหยุดยาเอง และควรรีบพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการผิดปกติ
- ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมอาหารให้สมดุล หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวาน มัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
- งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ถ้ามีอาการเตือนที่แสดงว่าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว ควรรีบมาพบแพทย์ถึงแม้ว่าอาการเหล่านั้นจะหายได้เองเป็นปกติ ผู้ที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันแล้ว แพทย์จะให้การรักษาโดยใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง แต่การใช้ยาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการติดตามผลและใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากถ้ามีการใช้ยาผิด ประมาทเลินเล่อ หรือไม่มีการติดตามดูแลอย่างสม่ำเสมออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ติดต่อเรา (Contact)
สนใจสอบถามข้อมูล และ ติดตาม KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
Line
@Kinrehab
Call
091-803-3071
Call
095-884-2233