การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
Stroke โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุหนึ่งของความทุพพลภาพของวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัว แต่การทำกายภาพบำบัดสามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ดีขึ้นได้
การฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกายภาพบำบัด โดยจุดมุ่งหมายของการทำกายภาพบำบัดคือการให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้กิจกรรมการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การนั่ง การยืน การนอน
ในการฝึกกายภาพบำบัดตามหลักสากลได้แนะนำช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างน้อย 45 นาที ต่อวันเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้ช่วงเวลาการฝึกอาจมีเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามความสามารถของผู้ป่วยและความหนักเบาของการฝึก ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวต่อเซลล์สมองที่เกิดความเสียหายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่
การฝึกโดยกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองทำให้ร่างกายเกิดการอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง เนื่องจากมีความเสียหายของเซลล์สมองที่ควบคุมร่างกายทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการทรงตัว การเคลื่อนไหวของร่างกายได้ โดยวิธีการทางกายภาพบำบัดจะมีตั้งแต่การจัดท่าทางที่เหมาะสม การออกกำลังกายเฉพาะส่วน การฝึกการทรงตัว การฝึกควบควบคุมการทรงตัว การฝึกเดิน เป็นต้น
- การจัดท่าทางในการนอน การนั่งทำกิจกรรมที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมให้การทำงานของกล้ามเนื้อและการรับรู้ความรู้สึกของร่างกาย อีกทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ การยึดติดของข้อต่อ ปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ
- การออกกำลังกายเฉพาะส่วน จะช่วยปรับความตึงตัวของกล้ามเนื้อให้ใกล้เคียงปกติ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มช่วงมุมการเคลื่อนไหว เพิ่มความทนทานในการออกกำลังกายได้นานขึ้น และส่งเสริมให้มีรูปแบบการคลื่อนไหวที่ปกติ
- การฝึกการทรงตัวจะช่วยให้สามารถทำกิจกรรมในท่านั่ง ยืน หรือเปลี่ยนท่าต่างๆได้อย่างมั่นคงและลดความเสี่ยงในการหกล้มได้ เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่ความสามารถในการควบคุมและการรับรู้ความรู้สึกลำตัว แขนขาด้านใดด้านหนึ่งจะลดลง ซึ่งมีงานวิจัยสนับสนุนว่าการฝึกกล้ามเนื้อลำตัวจะเพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวได้ดี
- การเดิน มักเป็นเป้าหมายสูงสุดของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่มักมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ หากได้รับการฝีกที่ไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้เกิดการจำกัดในการทำกิจกรรมและอาศัยแต่เพียงในบ้าน ถูกแยกตัวออกจากสังคม โดยการฝึกทางกายภาพบำบัดจะมีการฝึกโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า โครงสี่ขา การฝึกบนพื้นผิวต่างๆ เดินข้ามสิ่งกีดขวางเพื่อส่งเสริมให้มีการเดินอย่างปลอดภัย
(1) Veerbeek JM, van Wegen E, van Peppen R, van der Wees PJ, Hendriks E, Rietberg M, Kwakkel G. What is the evidence for physical therapy poststroke? A systematic review and meta-analysis. PloS one. 2014 Feb 4;9(2):e87987.
(2) Cabanas-Valdes R, Cuchi GU & Bagur-Calafat C, 2013. Trunk training exercises approaches for improving trunk performance and functional sitting balance in patients with stroke: a systematic review. Neurorehabilitation, 33, 575-92.
https://www.physio-pedia.com/Stroke:_Physiotherapy_Treatment_Approaches
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
LINE สอบถามรายละเอียด @kinrehab (มี @ ข้างหน้า) หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id