มารู้ทัน ปอดอุดกั้น เรื่้อรัง 

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกับการรักษา

โรคปอดอุดกันเรื้อรังเป็นกลุ่มของโรคปอดอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของประชาการทั่วโลก

ลักษณะสำคัญของโรคปอดอุดกันเรื้อรัง คือ หลอดลม เนื้อปอดและหลอดเลือดปอดเกิดการอักเสบเสียหายเนื่องจากได้รับแก๊สหรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเป็นเวลานานส่งผลให้หลอดลมค่อยๆ ตีบแคบลงหรือถูกอุดกันโดยไม่อาจฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้อีก  

สาเหตุสำคัญของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่

การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดเนื่องจากในควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด สารและแก๊สเหล่านี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดลมและถุงลมจนนำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง และทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพในที่สุด ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับควันบุหรี่แม้จะไม่ได้สูบก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน

มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง ควันพิษ รวมถึงการหายใจเอาสารเคมีบางอย่างเข้าไปในปอดติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นกรณีที่มักเกิดกับผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่ที่มีละอองสารเคมี เช่น เหมืองถ่านหิน งานเชื่อมโลหะ รวมถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการประกอบอาหารและขับเคลื่อนเครื่องจักรต่างๆ

โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคพร่องสาร alpha-1-antitrypsin (AAT) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่ผลิตในตับแล้วหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้ปอดถูกทำลายจากสารต่างๆ โรคนี้จึงสามารถเกิดได้ทั้งกับคนวัยหนุ่มสาว สำหรับผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ การขาด AAT จะเร่งให้เกิดภาวะถุงลมโป่งพองเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนักและมักพบในชาวยุโรปหรือชนชาติผิวขาวอื่นๆ

สำหรับปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้แก่ การสูบบุหรี่ทั้งที่เป็นโรคหืด และอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่พัฒนาอย่างช้าๆ ดังนั้นกว่าที่จะตรวจพบโรค ผู้ป่วยก็มักเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว

การรักษา

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการดำเนินโรค บรรเทาอาการของโรค ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนรวมถึงอาการกำเริบเฉียบพลันได้ โดยวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้นได้มีดังนี้

เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันดับแรกของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การเลิกบุหรี่จะช่วยไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงและทำให้หายใจได้ดีขึ้น หากผู้ป่วยไม่สามารถเลิกบุหรี่อย่างถาวรได้ด้วยตัวเอง อาจขอรับบริการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีพฤติกรรมบำบัดได้ ณ ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

หลีกเลี่ยงมลพิษในอากาศ และการอยู่ในสถานที่ที่มีละอองสารเคมี หากจำเป็นควรสวมอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจเช่น หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองและสารเคมี

การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ ลดการกำเริบ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ซึ่งการเลือกใช้ยาจะเป็นไปตามอาการและระดับความรุนแรงของโรค สำหรับกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่

ยาขยายหลอดลม มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการไอ หายใจติดขัด ผู้ป่วยจึงหายใจได้สะดวกขึ้น ยาขยายหลอดแบ่งออกเป็นชนิดออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว และมีทั้งแบบสูดพ่นและแบบรับประทาน 

ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด ใช้ร่วมกับยาขยายหลอดลมในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อลดการกำเริบของโรคซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป

ยาปฏิชีวนะ ให้ในกรณีที่มีการติดเชื้อ หรือการกำเริบเฉียบพลัน

การรักษาอื่นๆ เช่น การบำบัดด้วยออกซิเจนระยะยาว การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อลดโอกาสเจ็บป่วยรุนแรง การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยกายภาพบำบัด การดูแลภาวะโภชนาการ และการดูแลสภาพอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย

การผ่าตัด ในกรณีที่การรักษาด้วยยาและวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอาถุงลมขนาดใหญ่ที่กดเนื้อปอดข้างเคียงออก ผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรปอด เพื่อใส่อุปกรณ์ในหลอดลม หรือเพื่อปลูกถ่ายปอดหากมีผู้บริจาคอวัยวะ

ที่มาภาพ : Freepik.com
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลวังเจ้า งานโภชนาการ

 ดูข้อมูลเพิ่มเติม
 
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่ม นัดหมายเข้ามาดูสถานที่ ติดต่อ
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
 
โทร 095-884-2233 , 091-803-3071 , 02-020-1171
 แอด LINE@ สอบถามรายละเอียด @kin.rehab มี @ ข้างหน้า หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id
 Youtube Channel : https://cutt.ly/TyTh3bd
 แผนที่ไป KIN : http://bit.ly/2VvPDq6

 

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab